วันอาทิตย์, 22 ธันวาคม 2567

“CAT เพาะพันธุ์ดี” สนับสนุนระบบไอโอทีเกษตรอัจฉริยะ รร.บ้านกำแพงเพชร

CAT นำโครงการ “CAT เพาะพันธุ์ดี” สนับสนุนระบบไอโอทีสมาร์ทฟาร์มจุดประกายเกษตรอัจฉริยะโรงเรียนบ้านกำแพงเพชร เพื่อการเรียนรู้เกษตร 4.0   

นางสาวโชติกา  ไพจ์ศรี ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์และสื่อสารภาพลักษณ์องค์กร พร้อมด้วยนางสาวสุรพีร์  สมรูป  ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานบริการลูกค้า กสท เขตใต้  บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ส่งมอบระบบไอโอทีเทคโนโลยีสมาร์ทฟาร์มอุปกรณ์เซ็นเซอร์ควบคุมน้ำและความชื้นเพื่อพัฒนาเกษตรอัจฉริยะให้กับโรงเรียนบ้านกำแพงเพชร จ.สงขลา  ซึ่งเป็นการสนับสนุนองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัยด้านสมาร์ทฟาร์มภายใต้โครงการ CAT เพาะพันธุ์ดี” โดยมีนายจรัสพร  ลางคุลเกษตริน  ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านกำแพงเพชร เป็นผู้รับมอบ  เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562

โครงการ“CAT เพาะพันธุ์ดี” มีเป้าหมายนำเทคโนโลยีไอโอทีสมาร์ทฟาร์มเข้าพัฒนาภาคการเกษตรท้องถิ่นระดับชุมชนและโรงเรียน  พร้อมการพัฒนาแปลงเกษตรสาธิตเพื่อให้นักเรียนครู บุคลากร และชุมชนได้สัมผัสเรียนรู้เข้าใจเทคโนโลยี ไอโอทีสมาร์ทฟาร์มด้วยการปฏิบัติและนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง   แปลงเกษตรพืชผักสวนครัวของโรงเรียนบ้านกำแพงเพชร   ซึ่งประยุกต์เทคโนโลยีระบบไอโอทีสมาร์ทฟาร์มบนโครงข่ายไอโอที ช่วยเพิ่มความสะดวก ลดระยะเวลาและแรงงานในการดูแล สร้างผลผลิตที่มีคุณภาพและปริมาณเพิ่มขึ้น เพื่อการส่งเสริมโครงการอาหารกลางวันของนักเรียน ทั้งยังนำผลผลิตส่วนที่เหลือจำหน่ายเป็นรายได้ต่อยอดทางเศรษฐกิจบนหลักเศรษฐกิจพอเพียง  นอกจากนี้ CAT ยังจัดอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรของโรงเรียนบ้านกำแพงเพชร เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนเกษตร 4.0 ในโรงเรียน จนถึงการต่อยอดเป็นศูนย์การเรียนรู้เกษตรสมัยใหม่สามารถถ่ายทอดความรู้ เพื่อยกระดับศักยภาพผลผลิตทางการเกษตรไปสู่ชุมชนอื่นๆ ให้เกิดเป็นความยั่งยืนต่อไป  

ทั้งนี้ โครงการ “CAT เพาะพันธุ์ดี” ได้ต่อยอดความสำเร็จจากโครงการ “CAT Digital Come Together” ที่มีผลงานขับเคลื่อนกิจกรรมพัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัลในพื้นที่เกษตรกรรมวังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา  โดยจะเน้นในการผลักดันเทคโนโลยีสนับสนุนด้านเกษตรกรรมซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของการพัฒนาให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น  บนแนวคิด “ร่วมแบ่งปันเทคโนโลยี สร้างสังคมดีไปด้วยกัน”  

“โครงการCAT เพาะพันธุ์ดี’ นอกจากสื่อความหมายหลักในการพัฒนาสมาร์ทฟาร์มให้ขยายไปในกลุ่มเกษตรกรแล้ว
ยังสื่อถึงการสร้างคนพันธุ์ดี ครอบคลุมมิติของ“ดี”ที่หมายถึงคนดีมีคุณภาพอันเป็นต้นทุนสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาสังคมให้ยั่งยืน และ“D” ที่สื่อความหมายถึง “Digital” อันเป็นหัวใจหลักในการดำเนินธุรกิจยุคใหม่ขององค์กร CAT เพื่อการสร้างคน Digital ให้เป็นกำลังสำคัญของประเทศในภาคเกษตรกรรม   โดย CAT หวังให้ผลระยะยาวจากการพัฒนาสมาร์ทฟาร์มของโครงการฯ ได้ช่วยส่งเสริมการพัฒนาเกษตร 4.0 เพื่อนำมาซึ่งผลผลิตที่มีคุณภาพ รวมทั้งด้านการพัฒนาคนดิจิทัลที่มีคุณภาพให้กับประเทศไทยซึ่งมีเกษตรกรรมเป็นรากฐานสำคัญ”