วันศุกร์, 25 เมษายน 2568

แม่ทัพภาคที่ 4 ย้ำสถานศึกษาใน จชต. ให้ปลูกฝังจิตสำนึกให้เยาวชน “ทำดี ละชั่ว กลัวบาป” ตามหลักฮูกุมปากัต (ธรรมนูญหมู่บ้าน 9 ดี) ต้องบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วนให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยได้เข้าถึงการศึกษา และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

วันนี้ (23 เมษายน 2568 ) เวลา 14.00 น. ที่ศูนย์ขับเคลื่อนการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี พลโท ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 พร้อมคณะผู้บังคับบัญชา ลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาของศูนย์ขับเคลื่อนการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศค.จชต.) โดยมีคณะที่ปรึกษาแม่ทัพภาคที่ 4 , รองแม่ทัพภาคที่ 4 / รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า และผู้บังคับบัญชา ร่วมคณะติดตาม ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการ พร้อมด้วย นาย นิกร เซ้ง ผู้อำนวยการศูนย์ขับเคลื่อนการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกำลังพลร่วมให้การต้อนรับ

โดย นาย นิกร เซ้งเถียร ผู้อำนวยการศูนย์ขับเคลื่อนการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผย ถึงการขับเคลื่อนในสถานศึกษาตามหลักฮูกุมปากัต (ธรรมนูญหมู่บ้าน 9 ดี) นำร่องในสถานศึกษา 42 แห่ง เน้นปลูกฝังจิตสำนึกให้เยาวชน “ทำดี ละชั่ว กลัวบาป” โดยนำหลักการธรรมนูญหมู่บ้าน “ฮูกุมปากัต” หนุนเสริมเพื่อให้เกิดแผนการดำเนินชีวิต ผ่านการขับเคลื่อนงานของแกนนำนักเรียน มุ่งหวัง พัฒนานักเรียนให้เป็นคนดี คนเก่ง มีความสุข เสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างโรงเรียน ครอบครัว ชุมชน และองค์กรศาสนา ภาพรวมที่ผ่านมาสถานศึกษา ได้รับความร่วมมือจากผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการร่วมกันอย่างประสานสอดคล้อง ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรม มีภาวะผู้นำและทำกิจกรรมต่างๆ ในสถานศึกษาสอดคล้องตามหลักฮูกุมปากัต

โอกาสนี้ พลโท ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ระบุว่า การขับเคลื่อนของสถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องมีความร่วมมือและบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วน ต้องกำหนดคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการศึกษาและพัฒนาระบบแนะแนวการเรียนอย่างชัดเจน โดยให้ความสำคัญในเรื่องของความเท่าเทียมกันในการประกอบอาชีพ และโอกาสทางการศึกษาที่จะต้องได้รับการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น เพิ่มการประชาสัมพันธ์ ให้กลุ่มเป้าหมายทั้งครู นักเรียน ผู้ปกครอง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการศึกษา ประชาชนทั่วไป ให้ได้รับทราบความคืบหน้าภารกิจของศูนย์ขับเคลื่อนการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ตลอด เพราะการบริหารจัดการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องมีความร่วมมือที่เข้มแข็ง มีการบูรณาการอย่างเป็นเอกภาพสามารถตอบสนองความต้องการของผู้เรียนทุกช่วงวัยบนพื้นฐานสังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง รู้เท่าทันวิถีโลกยุคใหม่อย่างยั่งยืน