วันอังคาร, 22 เมษายน 2568

“ศุภชัย” ผช. รมว.อว. หนุน “พัทลุงโมเดล” ชูต้นแบบพื้นที่นวัตกรรมท้องถิ่นร่วมกับ ม.ทักษิณ ยกระดับคุณภาพชีวิตคนท้องถิ่น ด้วยพลังวิจัยและบริการวิชาการ

วันที่ 21 เมษายน 2568 นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผลการดำเนินงานด้านอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยทักษิณ ณ สถาบันส่งเสริมการบริการวิชาการ ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ ผู้บริหารมหาวิทยาลัย และผู้แทนส่วนราชการในจังหวัดพัทลุงร่วมให้การต้อนรับ

การลงพื้นที่ครั้งนี้มุ่งเน้นการติดตามการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยบูรณาการองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และภูมิปัญญาท้องถิ่น มุ่งสร้างโอกาสใหม่ให้ชุมชนผ่านแนวคิด “เขา ป่า นา เล” ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางพัฒนาจังหวัดพัทลุงในฐานะเมืองแห่งความยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม ด้วยกลไกความร่วมมือ ระหว่างสถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานในสังกัด อว. รวมถึงภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ที่เข้ามามีบทบาทร่วมกันสอดรับกับการบูรณาการงานวิจัยกับอัตลักษณ์พื้นที่ ไม่ ว่าจะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากจากทุนวัฒนธรรม การยกระดับอาชีพในท้องถิ่นด้วยนวัตกรรม การ พัฒนาศักยภาพกําลังคนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ หรือการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

ภายในงานมีการจัดกิจกรรม Morning Talk ระหว่างผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ กับคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการและฐานการเรียนรู้ภายใต้ธีม “อัตลักษณ์พื้นถิ่นลุ่มน้ำทะเลน้อย” อาทิ พัทลุงโมเดล: งานวิจัยและนวัตกรรมสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ระบบการเลี้ยงควายปลักในพื้นที่มรดกทางการเกษตรโลก การใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่าจากทรัพยากรท้องถิ่น กระบวนการแปรรูปข้าวสังข์หยด การจัดการน้ำลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา คลินิกการแพทย์แผนไทยและพยาบาลชุมชน และนวัตกรรม Agro-waste และหมู่บ้านนวัตกรรมสาคูต้น

โอกาสนี้ยังได้มีการ มอบเกียรติบัตรแก่ 5 ชุมชน ที่เป็นพื้นที่สนับสนุนการเรียนรู้ ของนิสิตมหาวิทยาลัยทักษิณ ที่นําความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และ เทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยไปใช้ พร้อมทั้งมีการขยายผลต่อยอด กลับมาเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนิสิตของมหาวิทยาลัย ได้แก่ ตัวแทนจากศรีนาคาโมเดล บางแก้วโมเดล หมู่บ้านสาคูต้นควนขนุน ชุมชนหลาดใต้ถุน และหมู่บ้านท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพชุมชนวิถีนาเมืองลุง

ช่วงบ่าย ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ได้เยี่ยมชมกิจกรรม “เลน้อยคราฟ” ณ ชุมชนทะเลน้อย อ.ควนขนุน ร่วมแลกเปลี่ยนกับผู้ประกอบการชุมชน พร้อมร่วมกิจกรรมสาธิตงานคราฟต์จากกระจูด ตั้งแต่การสาธิตการตำน้ำพริกจากใบทํามัง การสกัดเส้นใยกระจูด การสาธิตทอผ้าจากเส้นใยกระจูด การย้อมสีกระจูดด้วยสีธรรมชาติ และการสานกระจูด
นายศุภชัย ใจสมุทร กล่าวชื่นชมมหาวิทยาลัยทักษิณในฐานะต้นแบบของ “อว. ส่วนหน้า” ที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงร่วมกับชุมชนอย่างแท้จริง ทั้งการส่งเสริมอาชีพ การสร้างผู้ประกอบการใหม่ และการใช้ทรัพยากรพื้นที่อย่างคุ้มค่า โดยเน้นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ยั่งยืน

กิจกรรมในครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของการบูรณาการงานด้านอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้เข้ากับบริบทของพื้นที่ โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือ “การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่นด้วยองค์ความรู้และการลงมือทำ”