วันศุกร์, 10 มกราคม 2568

รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา มอบนโยบายการปฏิบัติงาน และให้โอวาทแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ในทัณฑสถานบำบัดพิเศษสงขลา หลังมีประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษผู้ต้องราชทัณฑ์ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้กลับตนเป็นพลเมืองดี และไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก

 วันที่ 20 ส.ค. 63 ณ แดน 3 ทัณฑสถานบำบัดพิเศษสงขลา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา นายสมหวัง เรืองเพ็ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาได้มอบนโยบายการปฏิบัติงานและให้โอวาทแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ หลังมีประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษผู้ต้องราชทัณฑ์ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระเจ้าอยู่หัว 28 กรกฏาคม 2563 เพื่อให้กลับตนเป็นพลเมืองดี เป็นคุณประโยชน์ของประเทศชาติ และไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก โดยมีนายสมพงศ์ สนิทมัจโร ผู้อำนวยการทัณฑสถานบำบัดพิเศษสงขลา หัวหน้าฝ่าย และเจ้าหน้าที่ในสังกัดกรมราชราชทัณฑ์เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง ภายใต้มาตรการป้องกันและควบคุมโรค COVID-19 แบบเข้มงวด

นายสมหวัง เรืองเพ็ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ในส่วนของผู้ต้องราชทัณฑ์ได้มีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2563 เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่งผลให้มีผู้ต้องราชทัณฑ์จำนวนมากได้รับประโยชน์จากพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ ทั้งได้รับการลดโทษลง และได้รับการปล่อยตัว ซึ่งขอแสดงความยินดีกับผู้ต้องราชทัณฑ์ที่ได้รับประโยชน์ทุกราย และพึงตระหนักและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไว้ในโอกาสอันเป็นมหามงคลนี้โดยทั่วกัน เอาชนะปัญหาทุกอย่างด้วยหัวใจ ดังคำกล่าวที่ว่า “ทุกสิ่งสำเร็จได้ด้วยใจ” และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษครั้งนี้ คือ ผู้ที่พร้อมฝ่าข้ามใจตัวเองเพื่อต่อสู้ปัญหาและอุปสรรคในชีวิตด้วยวิถีแห่งทำนองคลองธรรม พร้อมที่จะกลับตัวเป็นพลเมืองดีของชาติไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก

ทั้งนี้ ขอให้ผู้ได้รับพระราชทานอภัยโทษมีกำลังกาย กำลังใจที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่ประสบความสำเร็จ และสำหรับผู้ที่ได้รับการลดโทษบางส่วนและยังต้องคุมขังต่อไปก็ให้ประพฤติตนอยู่ในระเบียบวินัยเพื่อจะได้รับประโยชน์ด้านต่างๆ กฎหมายราชทัณฑ์ อย่างครบถ้วน และได้รับการปล่อยตัวพ้นโทษในเร็ววันต่อไป

ด้านนายสมพงศ์ สนิทมัจโร ผู้อำนวยการทัณฑสถานบำบัดพิเศษสงขลา  กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ต้องราชทัณฑ์ในทัณฑสถานบำบัดพิเศษสงขลา  มีจำนวน กว่า 3, 800 ราย ซึ่งทางทัณฑสถานบำบัดพิเศษสงขลาได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมทั้งในด้านการให้การศึกษา การพัฒนาจิตใจ การส่งเสริมศีลธรรมจรรยาและการฝึกอบรมวิชาชีพ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กลับคืนสู่สังคมได้อย่างมีคุณภาพภายหลังพ้นโทษ และนำความรู้ด้านต่างๆ ที่ได้รับจากการอบรมหรือจากการฝึกอาชีพในขณะต้องโทษไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิต และประกอบการงานที่สุจริตสามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ 

ศิริลักษณ์ แคล้วคลาด/ข่าว-ภาพ
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา