
25 ก.พ.68 – เครือข่ายสถาปนิกสร้างสรรค์ทักษิณ จับมือ ปตท.สผ.อีดี นำภาคประชาสังคม สร้างเครือข่ายเยาวชนร่วมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมโบราณสถานและเมืองเก่า พร้อมร่วมขับเคลื่อนสงขลาสู่มรดกโลก

ดร.จเร สุวรรณชาต ประธานเครือข่ายสถาปนิกสร้างสรรค์ทักษิณ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ เครือข่ายสถาปนิกสร้างสรรค์ทักษิณร่วมกับบริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด หรือ ปตท.สผ.อีดี บริษัท ย่อยของ ปตท.สผ. ที่รับผิดชอบการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิตในทะเลอ่าวไทย ได้ริเริ่มโครงการนำเยาวชนเรียนรู้องค์ความรู้จากภาคประชาสังคมด้านวัฒนธรรมและการอนุรักษ์เมืองเก่า ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่จัดกิจกรรมลักษณะนี้ เพื่อนำเยาวชนคนรุ่นใหม่ นักกิจกรรมจาก 4 สถาบันการศึกษาในจังหวัดสงขลา ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขานครินทร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา วิทยาลัยเทคโนโลยีสันติวิทย์สงขลา มาเรียนรู้ประสบการณ์ตรงจากภาคประชาสังคม นักเคลื่อนไหวเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาในระดับพื้นที่และระดับประเทศ เพื่อประโยชน์ในการเสริมสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ให้ตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมและโบราณสถานสำคัญในพื้นที่จังหวัดสงขลาพร้อมทั้งเรียนรู้แนวคิดและแนวทางในการทำงานในรูปแบบเครือข่าย

“การอบรมครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกเยาวชนนักศึกษาจะได้เรียนรู้แนวทางการทำงานของเครือข่ายภาคประชาสังคมระดับแถวหน้าในพื้นที่ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจถึงความสำคัญ และวิธีการขับเคลื่อนงานด้านการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างสมดุลในบริบทต่างๆ ซึ่งช่วยเติมเต็มการดำเนินงานของภาครัฐ อีกทั้งเป็นการพัฒนาศักยภาพในการทำงานเครือข่าย เพิ่มทักษะความรู้ความเข้าใจในการทำงานกับเครือข่ายที่หลากหลาย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม หรือประชาชน ที่ต่างต้องทำงานประสานกัน อย่างสอดคล้อง สมดุล เพื่อเน้นประโยชน์สูงสุดของสาธารณชนและประเทศชาติ” ดร.จเร กล่าว

โครงการดังกล่าว เครือข่ายสถาปนิกสร้างสรรค์ทักษิณ จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ มีเยาวชนกว่า 30 คน จากสถาบันการศึกษาพื้นที่ และเชิญเครือข่ายกรรมาธิการสถาปนิกทักษิณ ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและประสบการณ์มาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้แก่เยาวชน อาทิ นายพงศ์ธันว์ สำเภาเงิน ผู้อำนวยการกองโบราณคดี กรมศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณสถานและด้านการทำงานกับเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อการอนุรักษ์โบราณสถานในพื้นที่ มาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของภาคประชาชนในการทำงานกับเครือข่ายต่างๆ เพื่อร่มเฝ้าระวังโบราณสถาน ภัยคุกคามด้านต่างๆ ตามกฎหมายของกรมศิลปากร นายบรรจง นะแส ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทย เครือข่ายสำคัญในการปกป้องโบราณสถาน มาร่วมถอดบทเรียนกรณีการอนุรักษ์แหล่งโบราณสถานเขาน้อย รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการมหาวิทยาลัยทักษิณ ผู้สร้างสรรค์วิสัยทัศน์ University of Glocalization ร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ในการทำงานกับชุมชนในหลากหลายมิติ รวมทั้งแนะนำบทบาทของเยาวชนต่อการมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการทำงานตามที่กฎหมายกำหนด

นอกจากนั้น ยังมีตัวแทนนักวิชาการและภาคประชาสังคมที่มีบทบาทโดดเด่นในระดับประเทศและระดับพื้นที่ ร่วมการถ่ายทอดองค์ความรู้ในครั้งนี้ อาทิ ผศ.วสิน ทับวงษ์ คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ในพื้นที่ ร่วมถ่ายทอดคุณค่า ความสำคัญและการดำรงรักษาโบราณสถานที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และ ผศ.ดร.พรชัย นาคสีทอง คณบดีคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ให้เกียรติมาถ่ายทอดถึงกระบวนการการมีส่วนร่วมกับประชาชนในการพัฒนาด้านต่าง ๆ ผศ.สดใส ขันติวรพงศ์ นักเขียน นักแปลอิสระ มาร่วมถ่ายทอดนแนวคิดการตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข เพื่อช่วยเสริมสร้างแรงบันดาลใจแก่เด็กและเยาวชน ให้ พร้อมกับมีส่วนร่วมสร้างคุณประโยชน์แก่สังคมตามโอกาสต่างๆ รวมทั้งการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในท้องถิ่น และนายวันชัย พุทธทอง บรรณาธิการสื่ออิสระของภาคประชาสังคม ถ่ายทอดบทบาทของสื่อมวลชนเพื่อภาคประชาสังคมการอบรมเพื่อสร้างเครือข่ายเยาวชนเพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมในพื้นที่ภาคใต้ครั้งนี้ ยังนับเป็นช่องทางหรือ platform ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนมีส่วนร่วมกับการอนุรักษ์วัฒนธรรม โบราณสถานและแหล่งมรดกโลก เตรียมพร้อมกับการประเมินเป็นเมืองมรดกโลกของจังหวัดสงขลา ตามแนวทางของยูเนสโกอีกด้วย