วันอาทิตย์, 19 มกราคม 2568

“เดชอิศม์” จับมือ 12 หน่วยงาน เร่งปรับปรุงคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้านจังหวัดสงขลา ตั้งเป้าปี’68 น้ำประปาหมู่บ้านทั่วประเทศ ผ่านเกณฑ์ 1,750 แห่ง

วันนี้ (18 มกราคม 2568) นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยแพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย ลงนามความร่วมมือ 12 หน่วยงาน เพื่อพัฒนาคุณภาพน้ำประปา หมู่บ้านสะอาด สู่การยกระดับเมืองสุขภาพดี  ณ โรงแรมลีการ์เด้นส์ พลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นโยบายกระทรวงสาธารณสุขนอกจากการส่งเสริมสุขภาพ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบอนามัยสิ่งแวดล้อมให้ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะการยกระดับคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้าน เพื่อให้ประชาชนสุขภาพดี มีความเป็นอยู่ที่ดี และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567 กระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศนโยบาย 3C Clear Clean Chlorine “น้ำประปาหมู่บ้านสะอาด” ที่จังหวัดสงขลา พร้อมมอบธงขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวแก่ 7 จังหวัดด้ามขวานประเทศไทย ประกอบด้วย จังหวัดสงขลา ตรัง พัทลุง สตูล ปัตตานี นราธิวาส และยะลา สำหรับวันนี้ ถือเป็นการขยายความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ให้มากขึ้น โดยลงนามความร่วมมือ ร่วมกับ 12 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดสงขลา สันนิบาตเทศบาลจังหวัดสงขลา ชมรมนายกองค์การบริหารส่วนตำบลจังหวัดสงขลา องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา การประปา ส่วนภูมิภาคเขต 5 สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 12 สงขลา สำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 8 สงขลา สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 16 สงขลา สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสงขลา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา ศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ถือว่าจังหวัดสงขลาเป็นจังหวัดแรกที่จะมีการขับเคลื่อนตามนโยบายดังกล่าว

ทั้งนี้ การพัฒนายกระดับคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้านเป็นการลงทุนที่สร้างผลลัพธ์อันคุ้มค่า
ในระยะยาว ไม่เพียงแต่ช่วยยกระดับสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน แต่ยังเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาชุมชนและประเทศอย่างยั่งยืน โดยจังหวัดสงขลาทุกแห่ง 141 แห่ง เป็นกุญแจสำคัญและเป็นหน่วยงานที่จะช่วยผลักดันให้บรรลุเป้าหมายนั่นคือทุกแห่งตั้งงบประมาณสนับสนุนปีละ 1 หมื่นบาทในการพัฒนาคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้านเพื่อประชาชนชาวจังหวัดสงขลาทั้ง 16 อำเภอ 127 ตำบล 1,180 หมู่บ้าน ประชาชน 1.4 ล้านคน จะมีน้ำประปาสะอาดใช้เพียงพอทุกคน สำหรับในปี 2568 กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าให้น้ำประปาหมู่บ้านในประเทศ ผ่านเกณฑ์น้ำประปาสะอาด 1,750 แห่ง และน้ำประปาหมู่บ้านขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในสงขลาอย่างน้อยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นละ 1 แห่ง”  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวเพิ่มเติมว่า น้ำเป็นสิ่งสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องจัดหาให้กับประชาชน โดยเฉพาะการจัดน้ำดื่มที่สะอาดและเพียงพอเป็นประเด็นที่ทั่วโลก ให้ความสำคัญและเป็นเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป้าหมายที่ 6 (Sustainable Development Goal: SDG6) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงน้ำดื่มที่ปลอดภัยและมีราคาที่สามารถซื้อหาได้ สำหรับประเทศไทย รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยกำหนดเป็นแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ประเทศไทยยังประสบกับปัญหาคุณภาพน้ำประปาไม่ได้มาตรฐาน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของน้ำประปาหมู่บ้าน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่ประชาชนใช้มากที่สุด ข้อมูลจากกรมอนามัยในการสุ่มเฝ้าระวังคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้าน ตั้งแต่ปี 2561-2567 จำนวน 10,271 แห่ง พบว่า มีเพียง 420 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 4 เท่านั้น ที่ผ่านการรับรองเป็นน้ำประปาหมู่บ้านสะอาด ที่มีความปลอดภัยสำหรับนำมาบริโภคในครัวเรือน ซึ่งถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับน้ำประปาในเขตเมือง และปัญหาสำคัญ คือ ยังขาดความครอบคลุมในการตรวจวิเคราะห์เพื่อประเมินคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้าน อันเนื่องมาจากขาดงบประมาณดำเนินการ ซึ่งทั้งประเทศมีประปาหมู่บ้าน ทั้งหมด 69,028 แห่ง ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายเดชอิศม์ ขาวทอง จึงมีนโยบายพัฒนาและยกระดับคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้านให้สะอาดและปลอดภัยครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยเริ่มต้นที่จังหวัดสงขลาเป็นจังหวัดแรกของประเทศไทย

“วันนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่กรมอนามัยได้ลงนามร่วมกับ 12 หน่วยงานในจังหวัดสงขลา รวมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานน้ำประปาสะอาด เพื่อให้หน่วยงานในระดับพื้นที่ร่วมมือกันพัฒนาระบบประปาหมู่บ้านในพื้นที่เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบลของจังหวัดสงขลา ให้สามารถผลิตน้ำประปาได้ตามเกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้ ของกรมอนามัย พ.ศ.2563 ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่มุ่งสนับสนุน ส่งเสริมให้ประชาชนมีน้ำบริโภคที่สะอาด ปลอดภัย เพื่อเป็นปัจจัยเอื้อในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนและสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG6) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ภายในปี พ.ศ. 2570” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว