กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับ ศอ.บต. แถลงเชิญชวนลูกหนี้ กยศ. 3 จังหวัด อีก 16,000 ราย เข้าร่วมปรับโครงสร้างหนี้ 16 ม.ค. นี้ แจ้งข่าวดี! ปรับลดค่าเบี้ยปรับค้างจ่าย จาก 7.5 เหลือ 0.5% และตัดเงินต้นก่อนดอกเบี้ย

 วันที่ 13 มกราคม 2568 กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กรมบังคับคดี กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ร่วมกันจัดแถลงข่าว มหกรรมไกล่เกลี่ยช่วยลูกหนี้ “มีอยู่ มีกิน มีใช้” เชิญชวนลูกหนี้ กยศ. เข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยเหลือประชาชน ของ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ภายใต้งาน”มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความยุติธรรม” ในวันที่ 16 มกราคม 2568 นี้ ณ ลานพิกุล มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ โดยนางสาว แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จะเดินทางร่วมพบปะพี่น้องประชาชนภายในงานด้วย

นายนันทพงศ์ สุวรรณรัตน์ รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ / โฆษก ศอ.บต. กล่าวว่า ศอ.บต. ในฐานะหน่วยงานด้านการประสานความร่วมมือได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการจัดทำชุดความรู้ และใช้เครื่องมือด้านการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยเฉพาะสื่อบุคคลคือบัณฑิตอาสาในพื้นที่ ทั้ง 2,256 ตำบลเพื่อกระจายข้อมูลให้กับประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการปรับโครงสร้างหนี้ ไม่เฉพาะในส่วนของหนี้ กยศ. เท่านั้น ยังรวมไปถึงหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมสถาบันการเงินอีกด้วย บัณฑิตอาสาจะช่วยเชิญชวน เพื่อให้ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมในวันที่ 16 มกราคมนี้

ด้าน นายกูเฮง ยาวอหะซัน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงปัญหาของเยาวชนในพื้นที่ จชต. มีผู้จบการศึกษาไม่มีงานทำเป็นจำนวนมาก ส่วนคนที่มีงานทำแล้ว รายได้ก็ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เนื่องจากได้รับเงินค่าจ้างไม่ถึงเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำที่รัฐบาลกำหนด ซึ่งส่งผลต่อการจ่ายหนี้ กยศ. รวมไปถึงผู้ปกครอง ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน ทั้งนี้ รัฐบาล โดยกระทรวงยุติธรรม มีมาตรการปรับลดหนี้ กยศ. เพื่อช่วยเหลือประชาชน เพื่อให้สามารถมีกำลังทรัพย์ในการจ่ายคืนรัฐ และนำเงินดังกล่าวมาหมุนเวียนต่อยอดการศึกษาให้เยาวชนรุ่นหลังที่ไม่มีทุนทรัพย์ได้มีโอกาสทางการศึกษาต่อไป

 นายทนงเดช สุทธิวรรโณภาส รักษาการผู้อำนวยการ ฝ่ายบริหารหนี้ 2 กล่าวว่า ลักษณะลูกหนี้ที่เข้าเกณฑ์ต้องปรับโครงสร้างหนี้ ใน 3 จังหวัด มีจำนวนทั้งสิ้น 16,000 ราย โดยสามารถเข้าร่วมมหกรรมไกล่เกลี่ยฯ ในวันที่ 16 ม.ค. นี้ โดยอาจลงทะเบียนล่วงหน้า และนำบัตรประชาชนใบเดียวเข้าร่วมโครงการ ในส่วนสิทธิประโยชน์ภายหลังทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้ว จากที่เคยผ่อนหลักพันบาท อาจเหลือเดือนละหลักร้อยบาท เนื่องจากรัฐขยายเวลาสิ้นสุดการจ่ายเป็นระยะเวลา 65 ปี อีกทั้งจะนำหนี้มาคำนวณใหม่เฉพาะดอกเบี้ยและเงินต้น โดยเบี้ยปรับที่ค้างจากการไม่จ่าย รัฐจะพักแขวนไว้และยกให้ภายหลังจ่ายหนี้หมดแล้ว ส่วนการคำนวณเบี้ยปรับหลังปรับโครงสร้างฯ โดยจะมีการคำนวณเงินเพิ่มหรือเบี้ยปรับจากเดิมร้อยละ 7.5 ลดลงเหลือ 0.5 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งดอกเบี้ยด้วย อีกทั้งจะมีการตัดชำระเงินต้นก่อนดอกเบี้ยเมื่อผู้กู้จ่ายเงินเข้าสู่ระบบ ที่สำคัญผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นจากสัญญากู้ยืมด้วย

 สำหรับผู้กู้ยืมที่ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้วในปี 2567 นายสุรพล อักษรเนียม ผู้อำนวยการสำนักงานบังคับคดีสงขลา กล่าวว่า แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มก่อนฟ้องและหลังฟ้อง โดยลูกหนี้ใน 3 จังหวัดทั้ง 2 กลุ่มได้เข้าร่วมทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้ว 33,123 ราย แบ่งเป็น จ.ยะลา 12,311 ราย ปัตตานี 7,865 ราย และนราธิวาส 12,947 ราย ทั้งนี้ลูกหนี้ที่ยังไม่ได้เข้าปรับโครงสร้างอีก 16,000 รายสามารถเข้าร่วมปรับโครงสร้างหนี้ได้ในวันที่ 16 มกราคม ณ ลานพิกุล มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์