วันอาทิตย์, 22 ธันวาคม 2567

“เพราะทุกข์ในใจของประชาชน คือลูกหลานติดยาเสพติด” ถือเป็นปัญหาสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องร่วมบูรณาการขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง

วันนี้ (19 ธันวาคม 2567) เวลา 14.00 น. พลโท ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ติดตามการดำเนินงาน พร้อมรับฟังปัญหา ข้อขัดข้อง ในการขับเคลื่อนงานของศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ณ ห้องประชุมศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี โดยมี พลตรี ปกรณ์ จันทรโชตะ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า พร้อมกำลังพลให้การต้อนรับ

โดย พลตรี ปกรณ์ จันทรโชตะ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยถึงสถานการณ์ด้านยาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงมีการค้าและการแพร่ระบาดของยาเสพติด โดยเฉพาะยาบ้าที่มีการค้าและแพร่ระบาดเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ เฮโรอีน, ไอซ์ พบแพร่ระบาดในทุกจังหวัด ตลอดห้วงปี 2567 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมและดำเนินคดีได้อย่างต่อเนื่อง พบว่าในจังหวัดปัตตานีมีการจับกุมสูงสุด รองลงมาคือ จังหวัดยะลา, นราธิวาส และ สงขลา พร้อมย้ำว่า การดำเนินงานด้านการป้องกันยาเสพติด เน้นกำลังภาคประชาชนเป็นสำคัญ ในชื่อ “มวลชนญาลันนันบารู“ คือ กลุ่มเยาวชนจูเนียร์, กลุ่มเยาวชน และ กลุ่มมวลชนทั่วไป โดยขับเคลื่อนงานเครือข่ายมวลชนญาลันนันบารู เป็นชุดประสานงานประจำจังหวัด ขับเคลื่อนงานไปสู่เครือข่ายมวลชนญาลันนันบารูระดับพื้นที่ ตั้งแต่ระดับตำบลไปถึงอำเภอ โดยการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ อาทิ ชุดปฏิบัติการกิจการพลเรือนของหน่วยเฉพาะกิจหมายเลข, ศูนย์ประสานงานร่วมอำเภอ, ภาคประชาสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการมีส่วนร่วมในเวทีสภาสันติสุขตำบล

โอกาสนี้ พลโท ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 กล่าวชื่นชมให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติภารกิจด้วยดีเสมอมา กำชับให้นำข้อผิดพลาดปรับเปลี่ยนแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น สำหรับการป้องกันและสกัดกั้นสู่การบำบัดรักษา ต้องดำเนินการควบคู่กับการลงพื้นที่สร้างความเข้าใจกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ให้ถือว่าปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาระดับชาติ เป็นภัยแทรกซ้อนที่มีความเกี่ยวโยงกับเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ จำเป็นต้องบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ทั้งงานสกัดกั้น การป้องกันและปราบปราม การบำบัดฟื้นฟู เพื่อพื้นที่ทุกชุมชน ทุกหมู่บ้าน เป็นพื้นที่สีขาวปลอดยาเสพติด ส่วนการบำบัดฟื้นฟูโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน (Community Based Trand Rexabilitation : CBTx) ให้ดูแลผู้ใช้ยาเสพติด ด้วยการบำบัดฟื้นฟูใกล้บ้าน หรือภายในชุมชนต่อเนื่อง ตั้งแต่การค้นหา คัดกรอง บำบัดฟื้นฟู การติดตามดูแลช่วยเหลือทางสังคม และการส่งเสริมการมีอาชีพ หลักสำคัญคือคนในชุมชนให้ความร่วมมือควบคู่กับหลักศาสนามาเป็นบทบาทสำคัญเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหายาเสพติด ได้อย่างครอบคลุมทุกมิติ และยั่งยืน