วันศุกร์, 27 ธันวาคม 2567

กอ.รมน.ภาค 4 สน.ประชุมหารือและรับฟังการดำเนินงานโครงการประตูน้ำระบายน้ำกรงปีนัง จ.ยะลา เพื่อบริหารจัดการน้ำและเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง

วันนี้ (6 ธันวาคม 2567) เวลา 13.30 น. ที่ ห้องประชุม 4 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี พันเอก อนุชา โนนคู่เขตโขง รองเลขาธิการ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า พร้อมด้วย นายอนุรักษ์ ธีระโชติ อดีตผู้อำนวยการโครงการชลประทานยะลา ร่วมประชุมและรับฟังข้อมูลการดำเนินงานโครงการประตูน้ำระบายน้ำกรงปินัง จังหวัดยะลา โดยมี ผู้แทนจาก ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ,คณะทำงานโครงการประตูน้ำระบายน้ำกรงปีนัง จังหวัดยะลา และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมฯ

นายอนุรักษ์ ธีระโชติ อดีตผู้อำนวยการโครงการชลประทานยะลา เปิดเผยว่า จากสภาพการเกิดอุทกภัยในลุ่มน้ำปัตตานี แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะที่เกิดบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำตอนบนและลำน้ำสาขาต่างๆ เกิดจากการที่มีฝนตกหนักและน้ำป่าไหลหลากต้นน้ำลงมามาก จนลำน้ำสายหลักไม่สามามารถระบายน้ำได้ทัน ประกอบกับมีสิ่งขีดขวางจากเส้นทางคมนาคมขวางทางน้ำ และมีการระบายน้ำไม่เพียงพอ รวมถึงอุทกภัยที่เกิดในพื้นที่ราบลุ่ม และแม่น้ำสายหลักที่ตื้นเขินมีความสามารถระบายน้ำได้ไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถระบายน้ำใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดน้ำท่วมเป็นประจำ รวมถึงปัญหาภัยแล้งเป็นปัญหาที่เกิดจากสภาพดินฟ้าอากาศโดยเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทาน รวมถึงภาวะขาดแคลนน้ำ เพื่ออุปโกค-บริโภคในช่วงฤดูแล้ง ที่เกิดขึ้นทุกปี โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลจากแหล่งน้ำ พื้นที่ลุ่มน้ำปัตตานี ซึ่งโครงการประตูน้ำระบายน้ำกรงปีนัง มีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำปัตตานีโดยเฉพาะพื้นที่ด้านท้ายน้ำเขื่อนบางลาง โดยพัฒนาระบบกระจายน้ำให้มีความเหมาะสมเต็มศักยภาพ เพื่อเป็นแหล่งน้ำสนับสนุนน้ำ เพื่อการอุปโกค-บริโภคของประชาชน ตลอดจนสัตว์เลี้ยงจังหวัดยะลาและข้างเคียงได้

ด้าน พันเอก อนุชา โนนคู่เขตโขง รองเลขาธิการ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า ปัญหาน้ำท่วมเป็นปัญหาที่เราต้องช่วยกันแก้ไขปัญหา และสร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจให้ถูกต้อง ต่อการดำเนินโครงการฯ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยนช์สูงสุด ซึ่งการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นคือส่วนสำคัญ และสำรวจความต้องการของประชาชน ในส่วนของลงการสร้างความเข้าใจต้องมีการดำเนินการหารือส่วนราชการและสร้างการตระหนักรู้โดยทุกภาคส่วนต้องมามีส่วนร่วมกัน

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมแสดงความคิดเห็นร่วมกันและหารือแนวทางสร้างความเข้าใจ สร้างการรับรู้ต่อโครงการดังกล่าว เพื่อสร้างการรับรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ เปิดการรับฟังความเห็นการมีส่วนร่วม ข้อเสนอแนะต่าง ๆ โดยเน้นประโยชน์ของประชาชนและด้านการเกษตรเป็นหลัก