วันพฤหัสบดี, 14 พฤศจิกายน 2567

มอ.ปัตตานี จัดกิจกรรม KICK OFF โครงการ “App Tech แก้จนคนตานีด้วยเทคโนโลยีพร้อมใช้ “เพื่อยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือน เศรษฐกิจชุมชนให้สามารถพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน

วันนี้ (11 พฤศจิกายน 2567) เวลา 10.00 น.ณ ห้องประชุมปริชญากร (ชั้น 4) อาคารสำนักงานวิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดกิจกรรม KICK OFF โครงการ “App Tech แก้จนคนตานีด้วยเทคโนโลยีพร้อมใช้”โดยมี รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม วิทยาเขตปัตตานี,หัวหน้าโครงการ การยกระดับโมเดลแก้จนด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมในพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์จังหวัดปัตตานี เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม ,หัวหน้าสวนราชการ,ผู้บริหาร บุคลากรมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ,สถาบันการศึกษาในจังหวัดชายแดนใต้ ,ภาคีภาคเอกชน ,ภาคีเครือข่ายงานวิจัย ตัวแทนชุมชน และตัวแทนภาคประชาสังคม เข้าร่วมฯ

 กิจกรรม Kick off การนำเสนอเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี “App Tech คนตานีเทคโนโลยีพร้อมใช้” จัดขึ้น เพื่อเป็นเวทีสื่อสารให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่เหมาะสมที่ทางทีมวิจัยกำลังพัฒนากันอยู่ให้รับทราบ และร่วมกันให้ข้อเสนอแนะเพื่อที่จะทำให้ได้เทคโนโลยีที่เหมาะสมพร้อมใช้งานได้จริง ใช้งานได้ง่ายและเกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริง โดยโครงการ การพัฒนาและยกระดับการจัดการเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม: กรณีศึกษาพื้นที่จังหวัดปัตตานี ระยะที่ 2 ปีที่ 2 ภายใต้กรอบการวิจัย “พื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม” ประจำปีงบประมาณ 2567 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ ร่วมกับนักวิจัยจากหลากหลายส่วนงานได้ดำเนินการกันมาอย่างเข้มแข็ง ต่อเนื่องร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทำให้เห็นความจำเป็นและความสำคัญของการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนาอาชีพ ยกระดับรายได้ หรือการสร้างโอกาสอาชีพใหม่ในพื้นที่

แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า วันนี้ทางทีมวิจัยได้นำเสนอ 10 เทคโนโลยีที่เหมาะสม App Tech แก้จนคนตานี เทคโนโลยีพร้อมใช้ ได้นำเอาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผสมผสานกระบวนกับภูมิปัญญาท้องถิ่นมาทำให้เกิดเทคโนโลยีที่จะนำไปได้ใช้จริงในระดับชุมชนและครัวเรือน เป็นเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน เพื่อพร้อมจะต่อยอด ขยายผล และประยุกต์ใช้ในพื้นที่เป้าหมาย รวมถึงโอกาสในการขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ที่มีบริบทใกล้เคียงกัน ซึ่งงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การพัฒนาพื้นที่นี้จะสำเร็จไม่ได้เลยหากไม่ได้รับความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากกลไกภาคีทุกภาคส่วนในพื้นที่ต่างมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การเพิ่มศักยภาพทั้งกำลังคนและกำลังการผลิตในภาคต่างๆ ยกระดับเศรษฐกิจในครัวเรือน เศรษฐกิจชุมชน และเศรษฐกิจในภาพรวมของจังหวัดชายแดนใต้ เน้นให้ครัวเรือนและชุมชนสามารถพึ่งพาตนเอง

โดยภายในกิจกรรมมีการนำเสนองานวิจัยจำนวน 10 ผลงาน รวมถึงรับฟังการเสวนาและร่วมให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมตามบริบทของหน่วยงาน โดยทีมงานวิจัยฯ จะนำงานวิจัยเหล่านี้ลงไปถ่ายทอดให้ชุมชน เพื่อสามารถพัฒนาอาชีพและสร้างรายได้แก้จนคนตานีอย่างยั่งยืน