วันจันทร์, 25 พฤศจิกายน 2567

มรภ.สงขลา ทำโครงการ “ตามรอยพ่อ” ปั้น นศ.จิตอาสาฝึกประสบการณ์ความเป็นครู

ครุศาสตร์ มรภ.สงขลา สนองพระบรมราโชบายด้านการศึกษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จัดทำโครงการตามรอยพ่อ ปั้นนักศึกษาจิตอาสาฝึกประสบการณ์ความเป็นครู สร้างเจตคติที่ดีแก่เด็กในโรงเรียนกองทุนฯ

ดร.มนตรี เด่นดวง คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงโครงการตามรอยพ่อ ว่า เป็นโครงการจิตอาสาของนักศึกษาคณะครุศาสตร์ ที่รวมกลุ่มขึ้นมาเพื่อฝึกประสบการณ์ในด้านความเป็นครู และสร้างเจตคติที่ดีในการเรียนให้แก่นักเรียนในโรงเรียนกองทุนเพื่อการศึกษาในพื้นที่ จ.สงขลา รวม 3 แห่ง คือ ร.ร.บ้านคูนายสังข์ อ.จะนะ ร.ร.บ้านป่าโอน อ.เทพา และ ร.ร.บ้านกระอาน อ.เทพา โดยน้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร่วมกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ทรงสร้างภูมิคุ้มกันให้พสกนิกรชาวไทยด้วยการดำเนินชีวิตในแบบเรียบง่าย และก้าวเดินอย่างเป็นขั้นตอน ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อนของสังคมต่างๆ มากมาย เศรษฐกิจพอเพียงปรัชญาที่พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตมาอย่างยาวนาน ยังคงใช้ได้กับทุกยุคสมัย และเป็นสิ่งที่องค์การสหประชาชาติได้ย้ำกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกว่าเป็นตัวอย่างที่น่าจะทำตาม       

ดร.มนตรี กล่าวว่า พระบรมราโชบายด้านการศึกษาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 การศึกษาต้องมุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน ได้แก่ มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง หมายถึงต้องมีความรู้ความเข้าใจต่อชาติบ้านเมือง ยึดมั่นในศาสนา มั่นคงในสถาบันพระมหากษัตริย์ และมีความเอื้ออาทรต่อครอบครัวและชุมชนของตน มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรม หมายถึง ให้รู้จักแยกแยะสิ่งที่ผิด-ที่ถูก สิ่งชั่ว-สิ่งดี เพื่อปฏิบัติแต่สิ่งที่ชอบที่ดีงาม ปฏิเสธสิ่งที่ผิดที่ชั่ว เพื่อสร้างคนดีให้แก่บ้านเมือง มีงานทำ มีอาชีพ หมายถึง ต้องให้เด็กรักงาน สู้งาน ทำงานจนสำเร็จ อบรมให้เรียนรู้การทำงาน ให้สามารถเลี้ยงตัวและเลี้ยงครอบครัวได้และเป็นพลเมืองดี หมายถึง การเป็นพลเมืองดีเป็นหน้าที่ของทุกคน สถานศึกษาและสถานประกอบการต้องส่งเสริมให้ทุกคนมีโอกาสทำหน้าที่พลเมืองดี การเป็นพลเมืองดีหมายถึงการมีน้ำใจ มีความเอื้ออาทร ต้องทำงานอาสาสมัคร งานบำเพ็ญประโยชน์ “เห็นอะไรที่จะทำเพื่อบ้านเมืองได้ก็ต้องทำ”

คณบดีคณะครุศาสตร์ กล่าวอีกว่า มรภ.สงขลา เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มีขอบเขตพื้นที่ให้บริการทางการศึกษาครอบคลุมทั่วทุกจังหวัด ตระหนักและเห็นความสำคัญในการส่งเสริมความรักความสามัคคี ความมีระเบียบวินัย เข้าใจสิทธิหน้าที่ตนเองและผู้อื่น ภายใต้พื้นฐานของสังคมของคนในชาติ โดยนำรูปแบบการจัดกิจกรรมค่ายวิชาการให้กับนักเรียนในโรงเรียนกองทุนการศึกษา ให้มีความรู้ความเข้าใจและนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ในการทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรม มีงานทำ มีอาชีพและเป็นพลเมืองดี โดยนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ อันจะนำไปสู่สังคมที่มีความเข้มแข็ง มั่นคงและยั่งยืนต่อไป

 ด้าน นายปรมินทร์ ชนะภัย นักศึกษาชั้นปีที่ 3 วิชาเอกสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ มรภ.สงขลา ประธานโครงการตามรอยพ่อ กล่าวว่า สิ่งที่ประทับใจที่สุดในการทำจิตอาสาจัดกิจกรรมในโรงเรียน คือ การได้เห็นภาพของน้องๆ นักเรียนมีความสุขจากการเข้าร่วมโครงการ เป็นภาพสะท้อนกลับที่ทำให้หายเหนื่อย เพียงแค่รอยยิ้มของน้องๆ ที่สำคัญ รู้สึกภูมิใจเป็นอย่างมากที่ได้น้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร่วมกับแนวคิดหลักเศรษฐกิจพอเพียง มาบรูณาการในการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างเจตคติที่ดีในการเรียนให้กับนักเรียนกองทุนการศึกษา นอกจากนั้น กิจกรรมในครั้งนี้ยังทำให้เกิดแรงผลักดันในการเป็นครูมากยิ่งขึ้น