วันนี้ (1 กรกรฎาคม 2567) เวลา 14.20 น. ที่ ศูนย์แรกรับ CBTx หมู่ 5 บ้านบ่อโต๊ะคง ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา พลตรี ไพศาล หนูสังข์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 / รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า และคณะ เดินทางไปหารือร่วมกับส่วนราชการ พร้อมเยี่ยมให้กำลังใจ และติดตามการดำเนินการโครงการบำบัดฟื้นฟูโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งเกิดขึ้นโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ผู้นำท้องที่, ผู้นำท้องถิ่น, ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่ ร่วมขับเคลื่อนการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติด ในรูปแบบชุมชนบำบัดแก้ไขปัญหายาเสพติด (CBTx) โดยมี ผู้บังคับกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 43, ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรควนมีด, นายอำเภอจะนะ, คณะกรรมการ 8 ฝ่าย, หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และมวลชนญาลันนันบารู ร่วมให้การต้อนรับ
โอกาสนี้ รองแม่ทัพภาคที่ 4 / รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้ร่วมรับฟังการบรรยายสรุปการดำเนินงานและขับเคลื่อนโครงการบำบัดฟื้นฟู โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนของ ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา อีกทั้งได้กล่าวว่า “เรื่องยาเสพติดถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข เพราะเป็นปัจจัยในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมกล่าวว่า ควรขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม ขอบคุณผู้นำชุมชนและทุกภาคส่วนที่ได้ให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นนโยบายสำคัญของแม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4” พร้อมมอบเกียรติบัตรแก่ครอบครัวสีขาวจำนวน 30 ครัวเรือนอีกด้วย
สำหรับแนวคิด CBTx (Community Based Treatment) หรือการปฏิบัติการขับเคลื่อนของชุมชนเพื่อร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติด คือ การบำบัดฟื้นฟูผู้ใช้ยาเสพติดโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน เป็นกระบวนการบำบัดฟื้นฟูที่สามารถทำได้ในชุมชน ซึ่งสามารถคัดกรองผู้เสพแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ “ผู้ใช้” ใช้เป็นครั้งคราว “ผู้เสพ” มีแนวโน้มเสพบ่อยขึ้น และ “ผู้ติด” หมกมุ่นในการเสพ โดยผู้ใช้และผู้เสพ ให้การดูแลแบบการบำบัดฟื้นฟูผู้ใช้ยาเสพติดโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ส่วนผู้ติด มีปัญหาด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต ต้องส่งต่อสถานพยาบาล เพื่อการดูแลอย่างเหมาะสมตามสภาพปัญหาของผู้ป่วย เป็นการดูแลผู้ใช้ยาเสพติดให้ได้รับการบำบัดฟื้นฟูใกล้บ้าน หรือภายในชุมชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งการฟื้นฟูทางการแพทย์และทางสังคม โดยใช้ศักยภาพและความร่วมมือของคนในชุมชนและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ตามบริบทและวิถีของชุมชนนั้น ๆ โดยมีแนวทางการดำเนินงานให้ผู้เข้าร่วมโครงการ CBTx ในพื้นที่ได้รับการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม และสามารถอยู่ร่วมกับคนในชุมชนได้โดยไม่ทำให้เดือดร้อน อีกทั้งให้ผู้เข้าร่วมโครงการ CBTx มีพฤติกรรมที่เหมาะสมสามารถลด ละ เลิกยาเสพติดได้ และไม่กลับไปมีพฤติกรรมเสพติดซ้ำ จนสามารถช่วยเหลือผู้เสพผู้ติดที่ยังไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาในสถานพยาบาลที่ยังคงอาศัยอยู่ในชุมชนได้มีโอกาสรับการบำบัดฟื้นฟูสมรรถนะด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชน ทั้งในระดับครอบครัว และชุมชนเอง จนถึงการติดตามผลการรักษา ให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง สร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันไม่ให้กลับไปติดยาเสพติดซ้ำ เพื่อคืนผู้ป่วยยาเสพติดสู่สังคมและสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขต่อไป