วันจันทร์, 25 พฤศจิกายน 2567

มทภ.4 ประชุมติดตามการขับเคลื่อนฮูกุมปากัต (ธรรมนูญหมู่บ้าน 9 ดี) ของคณะที่ปรึกษา คณะทำงาน มุ่งมั่น ขจัดการบิดเบือนข้อเท็จจริงสู่ชุมชน เพื่อนำพาสันติสุขแก่พี่น้อง จชต.

วันนี้ (23 เมษายน 2567) เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุม 1 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ประธานการประชุมคณะที่ปรึกษา คณะทำงานขับเคลื่อนฮูกุมปากัต (ธรรมนูญหมู่บ้าน 9 ดี) โดยมี ผู้แทนเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้, รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า, กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด, ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด, สมาคมสถาบันการศึกษาปอเนาะประจำจังหวัดชายแดนใต้, มูลนิธิศูนย์ประสานงานตาดีกา 5 จังหวัดชายแดนใต้, กองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนใต้, หน่วยเฉพาะกิจจังหวัด เข้าร่วมประชุมฯ ติดตามการดำเนินงานกลไกในการขับเคลื่อนฮูกุมปากัตที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

โอกาสนี้ พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ระบุว่า พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ปัจจุบัน กลุ่มแนวร่วมต่างๆ เริ่มมีมากขึ้น ในการปลุกระดม ปลุกปั่น ป้อนข้อมูลเท็จ บิดเบือนข้อเท็จจริงในชุมชน หมู่บ้าน ซึ่งทุกภาคส่วนต้องบูรณาการลงพื้นที่สร้างความเข้าใจแก่พี่น้องประชาชน ทำความเข้าใจกับผู้นำศาสนาในพื้นที่ได้รับทราบอย่างถูกต้องตามหลักศาสนา เข้าใจในกระบวนการกฎหมายของประเทศไทยในปัจจุบัน ที่หน่วยงานความมั่นคงยังต้องขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายอย่างเบาที่สุดและจะใช้การเจรจาเชิญตัวผู้ต้องสงสัยสร้างความเข้าใจจากหลักฐานที่ได้มานั้นมีอะไรบ้าง พร้อมย้ำว่าการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ปฏิบัติตามหลักของกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด ใช้การเจรจาเป็นหลัก ไม่ต้องการให้เกิดการสูญเสีย โดยเชิญ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา เข้าร่วมเจรจา เกลี้ยกล่อม ให้ผู้หลงผิดออกมาแสดงตัวเพื่อต่อสู้ ตามแนวทางสันติวิธี รวมทั้งภาพรวมการบังคับใช้กฎหมายที่ผ่านมาส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มที่ได้รับการบิดเบือนข้อมูลและเป็นแนวร่วมขบวนการที่ยังไม่มีหมายจับ ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนต้องขับเคลื่อนอย่างไรให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดความสันติ สงบสุข ช่วยกันให้ข้อมูลในสิ่งที่ถูกต้องตามหลักศาสนา ควบคู่การขับเคลื่อนนำหลักฮูกุมปากัต (ธรรมนูญหมู่บ้าน 9 ดี) สู่ชุมชน สู่มัสยิด ให้ครอบคลุมทุกตำบลทุกจังหวัดในพื้นที่ยึดถือปฏิบัติร่วมกันฟื้นฟูสังคมพหุวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เกิดสันติสุขอย่างยั่งยืน

ด้าน ดร.วิสุทธิ์ บิลลาเต๊ะ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานสำนักจุฬาราชมนตรี ในฐานะที่ปรึกษาคณะทำงานขับเคลื่อนฮูกุมปากัต (ธรรมนูญหมู่บ้าน 9 ดี) ย้ำว่าเยาวชนในพื้นที่เท่ากับอนาคตของประเทศ และเป็นที่พึ่งของสังคม สร้างสำนึกให้เยาวชนได้มองเห็นการดำรงอยู่ในประเทศไทยของเรา แม้ว่าเราจะมีพี่น้องส่วนใหญ่ที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม แต่สิ่งที่มีค่ายิ่งคือทุกคนต้องพึงตระหนักว่าประเทศนี้ได้มอบเสรีภาพทางศาสนาให้แก่เรา ตามที่ท่าน อรุณ บุญชม จุฬาราชมนตรีคนที่ 19 แห่งราชอาณาจักรไทย ได้ระบุว่าพสกนิกรชาวไทยมุสลิมน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยมุสลิมจากอดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งหากทุกคนมองเห็นคุณค่าความสำคัญของสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ในสังคมไทย เน้นให้เยาวชนเห็นคุณค่าในสิ่งเหล่านี้ เขาก็จะมีความรักในผืนแผ่นดินเกิดมากขึ้น ต่างสำนึกและเห็นคุณค่าภายใต้เสรีภาพที่เรามี และชุมชน บ้านเมืองของเราสามารถเกิดสันติสุข และร่วมกันขับเคลื่อนสังคมศาสนาผ่านฮูกุมปากัต (ธรรมนูญหมู่บ้าน 9 ดี) ที่มีครอบคลุมทุกด้านของความเป็นพลเมืองที่ดีในสังคม จึงเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้ใช้กลไกนี้แสดงถึงความร่วมมือร่วมใจระหว่างผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น ชุมชนและภาครัฐ นำไปสู่การการปรับปรุงแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ที่ไม่พึงปรารถนาในชุมชนของเราให้ดีขึ้นต่อไป ต่อยอดเป็น “Soft Power” ที่ทรงประสิทธิภาพมากที่สุด แม้อาจจะต้องใช้ระยะเวลาแต่มันรวมไปถึงแก่นแท้ลึกถึงจิตใจของพี่น้องในชุมชนได้

ทั้งนี้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้เล็งเห็นว่าหมู่บ้านเป็นหน่วยงานปกครองที่สำคัญของประเทศไทยและเป็นฐานรากรองรับการดำเนินการด้านกิจกรรมต่างๆ ที่สำคัญของประเทศตามนโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาลผ่านภารกิจของกระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้อง หมู่บ้านจึงเป็นจุดแตกหักแห่งชัยชนะในการพัฒนาประเทศ การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ จึงต้องนำหลักศรัทธาทางศาสนา เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินชีวิต การอยู่ร่วมกันในหมู่บ้านให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยปราศจากความขัดแย้ง จึงนำฮูกุมปากัต (ธรรมนูญหมู่บ้าน 9 ดี) มาปฏิบัติในหมู่บ้านวางแผนชีวิตหมู่บ้านตลอดจนวางแผนแก้ปัญหาและพัฒนาในทุกเรื่อง ทุกประประเด็นในทุกพื้นที่ เพื่อให้ทุกพื้นที่บรรลุสำเร็จตามเป้าหมายของเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพทำให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนอย่างถาวร