มรภ.สงขลา ผนึก อพท. สัมมนาแนวทางขับเคลื่อนแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวสู่การปฏิบัติ ยกระดับท่องเที่ยวยั่งยืนตามมาตรฐานสากล ในพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

มรภ.สงขลา ผนึกกำลัง อพท.-5 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เปิดเวทีสัมมนาแนวทางขับเคลื่อนแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวสู่การปฏิบัติ จัดทำแผนยกระดับสู่แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนตามมาตรฐานสากล ในพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ดึงศักยภาพทุกภาคส่วนร่วมแก้ไขปัญหา ควบคู่เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ดร.นราวดี บัวขวัญ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เป็นประธานในพิธีเปิดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “แนวทางการขับเคลื่อนแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวสู่การปฏิบัติ”

ภายใต้โครงการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อยกระดับสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามมาตรฐานสากล ในพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ณ ห้องประชุม ชั้น 3 อาคารศูนย์รวมกิจการนักศึกษา มรภ.สงขลา ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่ให้คณะทำงานได้ร่วมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิและผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่ พร้อมทั้งจัดแสดงผลิตภัณฑ์ชุมชน อันเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาอย่างยั่งยืน

ดร.นราวดี กล่าวว่า ขอชื่นชมคณาจารย์ในคณะทำงานที่ผนึกกำลังร่วมกันแสดงศักยภาพของนักวิชาการ ที่สอดรับกับปรัชญาของมหาวิทยาลัยที่ว่า “มรภ.สงขลา เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น” พื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ประกอบด้วย 3 จังหวัด ได้แก่ สงขลา พัทลุง และ นครศรีธรรมราช ทั้ง 3 จังหวัดมีอัตลักษณ์ที่หลากหลายและโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของผู้คนในแถบนี้ที่ยังคงปฏิบัติสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ประกอบกับความสมบูรณ์ของทรัพยากรทางด้านการท่องเที่ยว ทั้งคุณค่าทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และด้านวัฒนธรรม จึงทำให้ได้รับการประกาศจากองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ให้เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ทำให้ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลามียุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างชัดเจนมากขึ้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อเป้าหมายเดียวกัน เกิดเป็นการฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวและทรัพยากรธรรมชาติให้เติบโตอย่างยั่งยืน

การนำเอาศักยภาพของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาคประชาสังคม ชุมชนท้องถิ่น รวมถึงนักวิชาการ มาร่วมขับเคลื่อน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในการร่วมแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับความต้องการระดับพื้นที่ บนฐานองค์ความรู้และความเข้าใจในบริบทและสภาพปัญหาในเชิงลึกที่แท้จริงนั้น นับเป็นการเสริมสร้างศักยภาพและความสามารถของประชาชนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดโอกาสให้เกิดกระบวนการรวมตัวของทุกภาคส่วน ในการร่วมคิด ร่วมลงมือพัฒนา เป็นพลังสำคัญในการสร้างโอกาสในชุมชนควบคู่ไปกับการดำเนินการของภาครัฐในการขับเคลื่อนไปข้างหน้า โครงการนี้ถือได้ว่าได้ส่งเสริมพันธกิจของมหาวิทยาลัยทั้งด้านวิชาการและบริการวิชาการ ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างฐานความเข้มแข็งของพื้นที่ชุนชนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาอันจะสนับสนุนการพัฒนาประเทศชาติให้มั่นคงยั่งยืนสืบไป

ด้าน ดร.โชติกา รติชลิยกุล รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.สงขลา กล่าวว่า จากการศึกษาศักยภาพพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาของ อพท. พบว่าพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาในอำเภอของจังหวัดสงขลา พัทลุง และ นครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และมีนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศอยู่ในพื้นที่ แต่ก็พบปัญหาสำคัญคือแหล่งธรรมชาติเสื่อมโทรมและไม่ได้มาตรฐานจำนวนมาก ประกอบกับกิจกรรมและเส้นทางการท่องเที่ยวยังไม่ได้รับการยกระดับให้ได้มาตรฐาน ส่งผลให้เกิดการกระจุกตัวของการท่องเที่ยวในบางแห่ง จนทำให้ยังไม่ใช่มุดหมายของการท่องเที่ยว จากปัญหาและความสำคัญดังกล่าว อพท. ได้ร่วมกับคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.สงขลา ดำเนินการประเมินศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการยกระดับสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามมาตรฐานสากล

ทั้งนี้ เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่ให้สูงขึ้นตามมาตรฐานระดับโลก รองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพทั้งในและต่างประเทศ นำมาซึ่งความยั่งยืน รายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน จึงนำมาสู่การจัดสัมมนาในครั้งนี้ วัตถุประสงค์เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อน 4 แหล่งท่องเที่ยว ใน 5 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ 1. เทศบาลนครสงขลา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา 2. องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหมาก อำเภอปากพนัง จังหวัดพัทลุง 3. เทศบาลตำบลทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง 4. เทศบาลตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง 5. องค์การบริหารส่วนตำบลเคร็ง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่ พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและเป้าหมายแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา