นักวิจัย Betong Net Zero ต้อนรับนายกรัฐมนตรี และรองอธิบดีกรมป่าไม้ตามเส้นทางท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคณะ ได้รับชมการทำ workshop อิเคะจิเมะ ณ ร้านอาหารโกหงิ่วปลานิลสายน้ำไหล ซึ่งอยู่ภายใต้กิจกรรม Betong Carbon Neutral Tourism: ท่องเที่ยวเบตงบนฐานคิดคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดยกิจกรรม workshop อิเคะจิเมะ ได้รับเกียรติจากเชฟธนิสร วสิโนภาส และเชฟณธกร ศรุตธนาเจริญ จากร้าน Kensaku (เคนซากุ) ในการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการเลี้ยงปลานิล เพื่อฝึกปฏิบัติการฆ่าปลาอย่างสงบ และการแล่ปลา ส่งผลให้เกิดการสร้างมาตรฐานเดียวปันในการผลิต สร้างเครือข่ายในการจำหน่ายปลานิลสายน้ำไหล และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขนส่ง และกิจกรรม workshop เทียนหอมจากดอกไม้ ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อต้องการให้นักท่องเที่ยวร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดขยะ จากดอกไม้ให้เป็นของที่ระลึกได้ง่าย ๆ ด้วยการทำเทียนหอมเองจากไขถั่วเหลืองบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นไขพืชที่ผลิตจากน้ำมันของถั่วเหลืองธรรมชาติและเป็นที่นิยมในการนำมาทำเทียนหอม เพราะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ณ สวนหมื่นบุพผา อำเภอเบตง จังหวัดยะลา

ต่อมาวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 รองศาสตราจารย์ ดร.ชินีเพ็ญ มะลิสุวรรณ และอาจารย์ซูซัน หามะ นักวิจัยโครงการวิจัยเรื่อง การจัดการการท่องเที่ยวต้นแบบเพื่อมุ่งสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ร่วมด้วย ดร.สิทธิพร เพ็งสกุล และคุณมูฮำหมัดอาดีส เหล็กดี ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมต้อนรับคุณบรรณรักษ์ เสริมทอง รองอธิบดีกรมป่าไม้ และคณะ ณ สกายวอร์ค ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง โดยนักวิจัยได้นำเสนอผลิตภัณฑ์เบาะรองนั่งจากถุงเท้ากันลื่นที่นักท่องเที่ยวใช้แล้วทิ้ง ภายใต้แนวคิด UPCYCLING หรือกระบวนการหมุนเวียนที่นำขยะเศษวัสดะเหลือใช้มาชุบชีวิตใหม่การ UPCYCLING ถุงเท้ากันลื่น นอกจากจะลดปัญหาการกำจัดขยะแล้ว ทางนักวิจัยและนักออกแบบในพื้นที่ได้มีการออกแบบลวดลายเบาะรองนั่งที่สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าบริเวณสกายวอร์ค เพื่อเพิ่มความสวยงามอีกทั้งต้องการให้ผลิตภัณฑ์เป็นของที่ระลึกได้ ทั้งนี้ยังมีกิจกรรม 1 คน 1 เมล็ดพันธุ์สร้างรักษ์ เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวยิงเมล็ดพันธุ์พืชด้วยหนังสติ๊กเพิ่มพื้นที่สีเขียว ชดเชยแหล่งกักเก็บคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ปรับพฤติกรรมให้นักท่องเที่ยวรู้คุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ