มรภ.สงขลา สัมมนาเตรียมความพร้อมอาจารย์เข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ เทียบเชิญ 9 วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิร่วมถ่ายทอดความรู้ พร้อมฝึกปฏิบัติ

มรภ.สงขลา จัดสัมมนาและอบรมเชิงปฏิบัติการ เตรียมความพร้อมบุคลากรสายวิชาการ เพื่อเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ เทียบเชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ 9 ท่าน ร่วมถ่ายทอดเทคนิคและประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ หวังพัฒนาศักยภาพทางวิชาชีพคณาจารย์ นำความรู้ต่อยอดผลิตผลงาน ตอบสนองนโยบายมหาวิทยาลัยและประเทศชาติ

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสัมมนาและอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การเตรียมความพร้อมของบุคลากรสายวิชาการ เพื่อเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ” ณ ห้องประชุมนิวัต กลิ่นงาม คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรภ.สงขลา จัดโดย งานการเจ้าหน้าที่ กองกลาง สำนักงานอธิการบดี ดำเนินรายการโดย ผศ.นาถนเรศ อาคาสุวรรณ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและประกันคุณภาพการศึกษา มรภ.สงขลา วัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการซึ่งเป็นบุคลากรสายวิชาการจำนวน 176 คน ได้รับความรู้เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การขอตำแหน่งทางวิชาการ การพัฒนาผลงาน และสามารถนำความรู้จากการอบรมไปใช้ประโยชน์ในการผลิตผลงานทางวิชาการ รวมไปถึงสามารถแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการได้

โครงการในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 9 ท่าน ประกอบด้วย 1. ศ.อำนวย ยัสโยธา 2. ศ.ดร.วินัย ประลมพ์กาญจน์ 3. ศ.ดร.สำเริง จักรใจ 4. ศ.เกียรติคุณ ดร.บุญเรียง ขจรศิลป์ 5. ศ.ดร.ครองชัย หัตถา 6. ศ.เกียรติคุณพงศ์เดช ไชยคุตร 7. ศ.กิตติคุณ ดร.อัจฉรา จันทร์ฉาย 8. ศ.ดร.อลงกลด แทนออมทอง และ 9. ศ.ดร.ฉัตรชัย ไวยาพัฒนกร มาร่วมถ่ายทอดความรู้พร้อมฝึกปฏิบัติตามศาสตร์ต่าง ๆ โดยแบ่งออกเป็น 9 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มมนุษยศาสตร์ กลุ่มสังคมศาสตร์ กลุ่มวิทยาการจัดการ กลุ่มครุศาสตร์ กลุ่มศิลปกรรมศาสตร์ กลุ่มวิทยาศาสตร์ กลุ่มวิทยาศาสตร์ประยุกต์ กลุ่มเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและกลุ่มวิศวกรรมศาสตร์ และ กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ

รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดี มรภ.สงขลา กล่าวว่า มรภ.สงขลา มีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนพัฒนาศักยภาพของบุคลากรสายวิชาการเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ ซึ่งเป็นการพัฒนาวิชาชีพของคณาจารย์อย่างเป็นรูปธรรมแนวทางหนึ่ง สะท้อนให้เห็นความเชี่ยวชาญ ความลุ่มลึกทางวิชาการ เพื่อให้สอดคล้องกับ ประกาศ ก.พ.อ. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ. 2564 บุคลากรสายวิชาการจึงต้องมีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตตำรา หนังสือ และการวิจัย สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมงานวิจัยที่ตอบสนองต่อนโยบายของมหาวิทยาลัยและประเทศชาติ

มรภ.สงขลา จึงสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรสายวิชาการ ให้มีความรู้ความเข้าใจกระบวนการการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ และการทำผลงานทางวิชาการ ประกอบด้วยการทำวิจัยในระดับสากล การแต่งตำราและหนังสือให้ถูกต้องตามเกณฑ์ที่กำหนด การนำเสนอผลงานต่อที่ประชุมวิชาการให้เป็นไปตามประกาศ ก.พ.อ. รวมทั้งจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการ