วันพฤหัสบดี, 26 ธันวาคม 2567

นายก อบจ.ทำงานเชิงรุกร่วมกับ อปท.และ 20 เครือข่ายทำ MOU สร้างเสริมสุขภาวะของประชาชนในจังหวัดสงขลา เข้าถึงการบริการอย่างเท่าเทียม นำร่อง อ.ควนเนียงและ อ.สิงหนคร

นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การอภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่น ภายใต้บริบทการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา โดยมีนางฐิตารีย์ เชื้อพราหมณ์ รักษาการแทนผู้อำนวยการกองสาธารณสุของค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา กล่าวรายงาน พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ นายแพทย์ สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหาร อปท. หัวหน้าส่วนราชการ ภาคีเครือข่ายส่วนกลาง ภาคีเครือข่ายระดับจังหวัด ภาคีเครือข่ายระดับอำเภอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสาธารณสุขเข้าร่วมในพิธีลงนาม ณ ห้องประชุมริมหาด โรงแรมหาดแก้ว จังหวัดสงขลา โดยมีหน่วยงานที่ร่วมลงนามความร่วมมือประกอบด้วย นายแพทย์สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในฐานะพยาน พร้อมด้วยเครือข่ายระดับจังหวัดได้แก่ สุขภาพแห่งชาติสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 12 สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 11 คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขต 12 ท้องถิ่นจังหวัดสงขลา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสงขลา ประกันสังคมจังหวัดสงขลา สนง.ส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดสงขลา ม.สงขลานครินทร์ ม.ราชภัฏสงขลา คณะพยาบาลศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ศูนย์การศึกษาพิเศษเขต 3 ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา ประธานสมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลา/มูลนิธิชุมชนสงขลา มูลนิธิสุขภาพภาคใต้ สมาคมเครือข่ายสุขภาพผู้สูงอายุจังหวัดสงขลา สมาคมคนพิการจังหวัดสงขลา สมาคมอาสาสร้างสุข และเครือข่ายองค์กรงดเหล้าจังหวัดสงขลา เครือข่ายอำเภอควนเนียง 11 หน่วยงาน และเครือข่ายอำเภอสิงหนคร 18 หน่วยงานร่วมในพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ และการพัฒนา โดยมีพื้นที่นำร่องขับเคลื่อนการอภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่นอำเภอควนเนียง และอำเภอสิงหนคร

โดยที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สถาบันวิจัยระบยสาธารณสุข (สวรส.) องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา สมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลา มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาร่วมกับภาคีเครือข่าย 20 องค์กร เห็นชอบในการพัฒนารูปแบบกลไกความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการอภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่นที่สามารถจัดบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิได้ตรงกับปัญหาของประชาชนในพื้นที่ อันเป็นตามแนวคิดและเป้าหมายของธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 และตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 เพื่อให้ประชาชนจังหวัดสงขลา เข้าถึงระบบบริการสาธารณะที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และยั่งยืน ดังแนวทาง 1) ร่วมกันสร้างการมีส่วนร่วม เชื่อมโยงภาคีเครือข่ายในการพัฒนาระบบบริการสาธารณะโดยเฉพาะบริการสุขภาพให้ประชาชนเข้าถึงบริการ และสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ โดยคำนึงถึงบริบทที่แตกต่างในพื้นที่ ประสานผู้ที่เกี่ยวข้องมาออกแบบปฏิบัติการร่วม พัฒนากลไกร่วม รวมถึงการบริการร่วม เปิดช่องให้ประชาชน สามารถร่วมสร้างบริการ และมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูล 2) เพิ่มคุณภาพ และการเข้าถึงบริการอย่างครอบคลุม เท่าเทียม และยั่งยืน โดยเฉพาะการเข้าถึงบริการพื้นฐานผ่านชุดสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม มีการบูรณาการกลไกทุกระดับ และสื่อสารให้ประชาชนร่วมรับรู้ 3) สานพลังสู่เป้าหมายของการสร้างสังคมสุขภาวะของ songkhla city สร้างการอยู่ดีมีสุขของคนสงขลา
4) ส่งเสริมการให้บริการสุขภาพ พัฒนาบุคลากร ระบบสารสนเทศด้านสุขภาพ ยาและเวชภัณฑ์ ระบบการ คลังด้านสุขภาพ และภาวะผู้นำและธรรมภิบาล รวมถึงกลไกบริหารจัดการ ให้มีความครอบคลุม ความสมดุล สามารถถ่วงดุลกันและกัน และ”เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข” ร่วมกันโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบต่อข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวและได้ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงนี้ไว้เป็นหลักฐาน

นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา กล่าวถึงทิศทางนโยบายด้านการจัดทำบริการสาธารณะด้านสุขภาพขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาว่า นโยบายด้านการจัดทำบริการสาธารณะด้านสุขภาพขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ภายใต้บริบทการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ก่อนที่ อบจ.สงขลา จะรับภารกิจถ่ายโอน รพสต.ฯ อบจ.สงขลา ได้มีการดำเนินการจัดบริการสาธารณะต้านสุขภาพมาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจของคณะผู้บริหารในการขับเคลื่อนงานทางด้านนี้ จะเห็นได้จากมีการประกาศใช้ข้อบัญญัติด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ข้อบัญญัติด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และข้อบัญญัติ ศูนย์บริบาลผู้สูงอายุ อบจ.สงขลา มาตั้งแต่ปี 2559 ส่งผลให้เกิดความเข้มแข็งในการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ 1669 กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดสงขลา และศูนย์บริบาลผู้สูงอายุ อบจ.สงขลา ซึ่งได้รับการยอมรับเป็นต้นแบบระดับประเทศและเป็นแหล่งศึกษาดูงานของหน่วยงานต่างๆ ตลอดมา โดย อบจ.สงขลา ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างหุ้นส่วนในการพัฒนา มุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและภาคประชาชน สร้างระบบสวัสดิการที่ยั่งยืนมากกว่า การสังเคราะห์เป็นครั้งคราว เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกช่วงวัยในจังหวัดสงขลา ให้สามารถเข้าถึงระบบบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ ที่จำเป็นตามสิทธิขั้นพื้นฐาน อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และยั่งยืน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคมในจังหวัดสงขลา ซึ่งปัจจัยแห่งความสำเร็จในการดำเนินงานที่สำคัญ คือ ภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง และการระบบการบริหารจัดการที่เป็นระบบต่อเนื่องและยั่งยืน ส่งผลให้ อบจ.สงขลา ได้รับรางวัลพระปกเกล้าทองคำ ประจำปี 2565 ด้านการเสริมสร้างภาคีเครือข่ายภาครัฐ เอกชนและประชาสังคม

ในเมื่อ อบจ.สงขลา ได้มารับภารกิจถ่ายโอน รพสต. ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบจ.สงขลา โดยในปี 2566 รับถ่ายโอน จำนวน 23 แห่ง และ ในปี 2567 จำนวน 26 แห่ง รวม 49 แห่ง ต้องยอมรับครับว่า ในช่วงระยะของการเปลี่ยนผ่านการถ่ายโอนฯ ย่อมประสบปัญหาหลายๆอย่าง โดยเฉพาะเมื่อทิศทางนโยบาย การสนับสนุนในการขับเคลื่อนของส่วนกลางในระดับประเทศไม่มีความชัดเจน ส่งผลกระทบต่อให้การบริหารจัดการของ อบจ. ซึ่งแต่ละ อบจ.ก็น่าจะประสบปัญหาใกล้เคียงกัน ทั้งในเรื่องของบุคลากรที่ไม่เป็นไปตามความสมัครใจ เรื่องของงบประมาณที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายกำหนด เรื่องของที่ดินและสิ่งก่อสร้าง ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องอาศัยหลายๆภาคส่วนในการแก้ไข และเงื่อนไขระยะเวลาที่ยาวนานในการดำเนินการสำหรับทิศทางนโยบายด้านการจัดทำบริการสาธารณะด้านสุขภาพของ อบจ.สงขลา ได้วางแนวทางการพัฒนาการระบบบริการสาธารณะในรูปแบบ “เติมสุขโมเดล” ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบบริการสาธารณะแบบครบวงจรแบบ One stop service ครอบคลุมทั้งมิติต้านสุขภาพและมิติด้านสังคม ผ่านกลไกการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในพื้นที่ ในการร่วมกันเติมเต็มระบบบริการตามบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบแบบไร้รอยต่อบนฐานข้อมูลกลางเดียวกัน การพัฒนาระบบการขนส่งสาธารณะในพื้นที่ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการ การสนับสนุนให้ภาคประชาชน และภาคเอกชน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบบริการสาธารณะ การสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับประชาชนในพื้นผ่านระบบบริการสาธารณะที่ก่อเกิดภายใต้ต้นทุนทางสังคมในพื้นที่ที่มีอยู่ โดยเฉพาะการจัดบริการแบบ One stop service ด้วยการจัดตั้งศูนย์บริการ”เติมสุข” ในพื้นที่นำร่อง มีเติมเต็มระบบริการ ด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพในชุมชน คลินิกกายภาพ คลินิกแพทย์แผนไทย คลินิกผู้สูงอายุ ศูนย์การเรียนรู้การแพทย์ฉุกเฉินและศูนย์บริการช่วยเหลือประชาชนในด้านสิ่งแวดล้อมและที่อยู่อาศัยกายอุปกรณ์ รายได้ เศรษฐกิจ การศึกษา ของประชาชนในชุมชน ซึ่งในปีนี้มีการนำร่องในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.ควนเนียง และ อ.สิงหนคร การพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลาง ร่วมกับ 14 องค์กรภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในพื้นที่ ที่ดำเนินงานด้านสุขภาพและด้านสังคม ซึ่ง อบจ.สงขลา สงขลา ได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ปี 2564 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบเพื่อนำข้อมูลมาใช้ร่วมกันอย่างเป็นระบบต่อไป และอีกประเด็นที่เป็นปัญหาการเข้าถึงระบบบริการเนื่องจากไม่มีญาติดูแล หรือไม่มีรถขนส่ง ในปัจจุบัน ซึ่ง อบจ.สงขลา ได้มีการดำเนินการสนับสนุนรถพยาบาลฉุกเฉินที่ครบอายุการใช้งาน 12 ปี ให้กับ อปท. ใช้บริการรับ – ส่งสาธารณะให้กับประชาชน ในพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 76 คัน และได้มีการวางแผนและตั้งงบประมาณในการดำเนินการพัฒนาระบบบริการสาธารณะร่วมกับ สปสช. ขนส่งจังหวัดสงขลา สสจ. รพ.หาดใหญ่ ในการวางระบบ จึงขอให้ทุกท่านเชื่อมั่นในการตั้งใจในการพัฒนาระบบบริการสาธารณะภายใต้คณะบริหาร อบจ.สงขลา ว่าจะสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการของรัฐที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง เท่าเทียม อย่างยั่งยืน ซึ่งต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบบริการสาธารณะ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในจังหวัดสงขลา