วันจันทร์, 13 มกราคม 2568

สภาพัฒน์ฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดประชุมระดมความคิดเห็น ครั้งที่ 3 (เวทีที่ 9-14) ภายใต้โครงการการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2566 ณ ห้องประชุมสหกรณ์การเกษตรจะนะ จำกัด อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยกองยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ปรึกษาโครงการ จัดประชุมระดมความคิดเห็น ครั้งที่ 3 (เวทีที่9-14) ภายใต้โครงการการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี โดยมี นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมโครงการการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี เป็นการดำเนินการที่เกิดขึ้นมาจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564

ที่มอบหมายให้ สศช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดให้มีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) และแผนแม่บทต่าง ๆ ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการ ซึ่งที่ผ่านมา สศช. ได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมายกร่างขอบเขตของงานจ้างที่ปรึกษา และใช้ในกระบวนการจ้างที่ปรึกษา เพื่อทำหน้าที่จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี ใช้กระบวนการ SEA ตามแนวทางการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ของ สศช. เพื่อทำแผนให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ คำนึงถึงความสมดุลของการพัฒนา ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

สำหรับโครงการนี้ มีกรอบระยะเวลาดำเนินการ 18 เดือน โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการแสดงความคิดเห็นในทุกขั้นตอนของการจัดทำแผนแม่บทด้วย SEA ซึ่งได้กำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 40 เวที

ทั้งนี้ยังไม่นับรวมการหารือกลุ่มย่อยแบบไม่เป็นทางการอีกหลายครั้ง การประชุมระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ เป็นการจัดครั้งที่ 3 เวทีที่ 9-14 ซึ่งจะจัดในจังหวัดสงขลา และจังหวัดปัตตานีในเวทีที่ 13-14 เพื่อระดมความคิดเห็นต่อ (ร่าง) เป้าหมายการพัฒนา ประเด็นยุทธศาสตร์ วัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและตัวชี้วัด ข้อมูลฐาน และระดมความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แผนการสื่อสารและการมีส่วนร่วม มีผู้เข้าร่วมประชุมจากผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ จำนวนประมาณ 300 คน ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ เช่น สำนักงานบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน สำนักงานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัด สำนักงานจังหวัด สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด สำนักงานเกษตรจังหวัด สถาบันการศึกษา องค์การบริหารส่วนจังหวัด และองค์การบริหารส่วนตำบล ที่เป็นที่ตั้งของพื้นที่เป้าหมายทั้งในจังหวัดสงขลา และพื้นที่เป้าหมาย เป็นต้น

ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา เช่น หอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรม สมาคมส่งเสริมการโรงแรมและการท่องเที่ยว เป็นต้น ภาคประชาสังคมและภาคประชาชน ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่อาศัยในเขตพื้นที่จังหวัดสงขลาและพื้นที่ใกล้เคียง เช่น สภาองค์กรชุมชน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เป็นต้น และ สื่อมวลชน ทั้งจากส่วนกลาง เป้าหมายการพัฒนา ประเด็นยุทธศาสตร์ วัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและตัวชี้วัด ทั้งนี้ สามารถติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของโครงการฯ ได้ผ่านช่องทางเว็บไซต์ของสภาพัฒน์ฯ Facebook: @SEASongkhlaPattani หรือประสาน ฝ่ายพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์