วันอาทิตย์, 12 มกราคม 2568

มรภ.สงขลา นำ นศ. สร้างบ้านปลา-ปลูกเตยทะเล ช่วยชุมชนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

มรภ.สงขลา นำนักศึกษาลงพื้นที่บ้านบ่ออิฐ ต.เกาะแต้ว จับมือชุมชนสร้างบ้านปลา(ซั้งกอ) ควบคู่ปลูกเตยทะเล แก้ไขปัญหาขยะ หวังมีส่วนร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพิ่มพื้นที่บริเวณชายหาด

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2566 มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) จัดกิจกรรมวิศวกรสังคม เรื่อง “การสร้างบ้านปลา (ซั้งกอ)” ณ หาดบ่ออิฐ หมู่ที่ 8 ตำบลเกาะแต้ว อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา โดย อาจารย์จิรภา คงเขียว รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา มรภ.สงขลา พร้อมด้วย อาจารย์จิราภรณ์ กวดขัน ผู้ช่วยอธิการบดี นายอาริยะวัฒน์ ชำนาญกิจ นายกองค์การนักศึกษา ภาคปกติ และนักศึกษา มรภ.สงขลา ร่วมกับคนในชุมชนร่วมกันสร้างบ้านปลา (ซั้งกอ) และทดลองปลูกเตยทะเล เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล เพิ่มพื้นที่บริเวณชายหาด สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ และแก้ไขปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่

นอกจากนั้น ยังได้ช่วยกันเก็บขยะรอบหาดบ่ออิฐ โดยมุ่งหวังให้ให้ทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลมีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ชาวประมงพื้นบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการทำการประมง และชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล

ในการนี้ นายยุดี หมัดเจริญ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 8 ตำบลเกาะแต้ว ได้บรรยาย เรื่อง ขั้นตอนการสร้างบ้านปลา (ซั้งกอ) และนำนักศึกษาฝึกปฏิบัติทำบ้านปลา เนื่องจากปัจจุบันพบว่าแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน (บ้านปลาหรือซั้งกอ) เกิดการเสื่อมโทรมและชำรุดไปตาม ส่งผลกระทบให้สัตว์น้ำมีพื้นที่หลบซ่อนตัวในช่วงวัยตัวอ่อนไม่เพียงพอ และพันธุ์สัตว์น้ำมีจำนวนลดน้อยลง ดังนั้น การจัดสร้างซั้งกอและการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำในพื้นที่เขตอนุรักษ์ จึงเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ช่วยฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำตามแนวชายฝั่งทะเล ให้มีความอุดมสมบูรณ์ขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

อาจารย์จิรภา คงเขียว รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา มรภ.สงขลา กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยต้องเผชิญกับข้อจำกัดด้านทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกใช้ไปอย่างขาดประสิทธิภาพ จึงอยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรม ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่งผลทั้งต่อต้นทุนการผลิตสินค้าบริการและสร้างผลเสียต่อคุณภาพชีวิตประชาชน ขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ประมงของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

โดยการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีอยู่อย่างสิ้นเปลืองและล้างผลาญ โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือประมงที่ผิดประเภท เช่น อวนลาก อวนรุน โพงพาง ซึ่งทำให้ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัย และสัตว์น้ำวัยอ่อนที่ยังไม่เจริญพันธุ์ได้คราวละมาก ๆ ทะเลถูกทำร้ายโดยผู้คน ถูกทำลายด้วยเทคโนโลยี หรือความทันสมัยของสังคมโลกยุคใหม่ ทำให้ทะเลไทยทั้ง 2 ฝั่ง รวมทั้งทะเลสาบสงขลาเข้าสู่วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม ปลาเหลือน้อย น้ำเสีย ตื้นเขินเพราะเป็นที่รองรับสิ่งปฏิกูล น้ำเสียจากบ้านเรือน ในชุมชน ตัวเมือง โรงงานอุตสาหกรรมโดยรายรอบบริเวณ

ด้าน นายอาริยะวัฒน์ ชำนาญกิจ นายกองค์การนักศึกษา ภาคปกติ กล่าวว่า แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน (บ้านปลาหรือซั้งกอ) เกิดการเสื่อมโทรมและชำรุด เนื่องจากได้จัดทำขึ้นในระยะเวลาที่ยาวนาน ส่งผลกระทบให้สัตว์น้ำมีพื้นที่หลบซ่อนตัวในช่วงวัยตัวอ่อนไม่เพียงพอ และพันธุ์สัตว์น้ำมีจำนวนลดน้อยลง การจัดสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อนและการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำในพื้นที่เขตอนุรักษ์ ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ช่วยฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำตามแนวชายฝั่งทะเลให้มีความอุดมสมบูรณ์ขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม จึงเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญในการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำตามแนวชายฝั่งทะเลให้มีความอุดมสมบูรณ์ สัตว์น้ำมีพื้นที่หลบซ่อนตัวในช่วงวัยอ่อน ก่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารให้แก่ชุมชนในบริเวณนั้นด้วย และช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศที่ถูกทำลายไปให้กลับมาสวยงามมากขึ้น

อีกทั้งปัญหาขยะในแหล่งน้ำธรรมชาติจัดเป็นหนึ่งในปัญหาที่สำคัญที่ขาดการแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้อง การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรและรูปแบบพฤติกรรมการบริโภคของผู้คนส่งผลให้ปัญหาขยะมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น มีการปล่อยขยะลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติก ซึ่งขยะนั้นส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้ระบบนิเวศทางทะเลที่สำคัญเกิดความเปลี่ยนแปลง ที่ส่งผลกระทบต่อสังคม สุขภาพ สิ่งแวดล้อม ทั้งของสัตว์ทะเลและมนุษย์ที่ได้รับบาดเจ็บจากขยะบริเวณริมชายฝั่ง ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำหายากและใกล้สูญพันธุ์ที่มีสาเหตุการตายมาจากการกินขยะ ตลอดจนส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว