วันอาทิตย์, 24 พฤศจิกายน 2567

มรภ.สงขลา ปั้น อสม.น้อย หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต

คณะวิทยาศาสตร์ มรภ.สงขลา พัฒนานักศึกษาปี 1 เป็น อสม.น้อย หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต สร้างองค์ความรู้การสาธารณสุขมูลฐานแนวใหม่ ควบคู่จัดการเรียนการสอนเสริมประสบการณ์ตรงให้ผู้เรียน

ดร.วรพล หนูนุ่น ประธานกรรมการบริหารหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงโครงการพัฒนานักศึกษาชั้นปีที่ 1 ให้เป็น อสม.น้อย หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต ครั้งที่ 2 เมื่อเร็วๆ นี้ว่า โครงการดังกล่าวจัดขึ้น ณ ห้องประชุมภูมิพัฒนา อาคารกองพัฒนานักศึกษา มรภ.สงขลา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจและส่งเสริมการมีเจตคติที่ดีเกี่ยวกับการสาธารณสุขมูลฐานแนวใหม่ รวมถึงส่งเสริมการการจัดการเรียนการสอนด้วยการสร้างประสบการณ์ตรงให้กับผู้เรียน ซึ่งเป็นนักศึกษาหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต จำนวน 245 คน ให้สามารถนำองค์ความรู้และทักษะที่ได้รับการฝึกปฏิบัติไปประยุกต์ใช้ในโอกาสต่างๆ ได้ เช่น การเรียนวิชาเอกในชั้นปีที่สูงขึ้น การฝึกประสบการณ์ทางสาธารณสุข เป็นต้น

ดร.วรพล กล่าวว่า ตาม มคอ.2 หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต ได้กำหนดความคาดหวังของผลลัพธ์การเรียนรู้เมื่อสิ้นปีการศึกษาของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ไว้ว่า เป็นผู้ที่มีคุณธรรม จริยธรรม มีจิตอาสาช่วยเหลือผู้อื่น เริ่มมีใจรักในวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน มีความรู้พื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ และมีทักษะในการการใช้เครื่องมือการจัดการความรู้เบื้องต้น โดยผ่านผลการประเมินการเป็นอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.น้อย) ที่จะต้องมีความสามารถในการวางแผน การดำเนินงาน การติดตามตรวจสอบ และการประเมินผลลัพธ์ ภายใต้ขอบเขตของงานการสาธารณสุขชุมฐานของประเทศไทย อีกทั้งในการจัดทำ มคอ.3 รายวิชา 4952303 การสาธารณสุขมูลฐานแนวใหม่ (New Primary Health Care) กล่าวถึงการจัดการเรียนการสอนตามกรวยประสบการณ์ไว้ว่า การเรียนรู้ที่มีความสำเร็จสูงสุดคือประสบการณ์ตรง อันเป็นประสบการณ์ขั้นที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดโดยการให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์โดยตรงจากของจริง สถานการณ์จริงหรือด้วยการกระทำของตนเอง ในที่นี้เป็นการเรียนรู้ด้วยการสอนคนอื่น

ประธานกรรมการบริหารหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต กล่าวอีกว่า จากเหตุและผลข้างต้น ทางหลักสูตรฯ ตระหนักถึงความสำคัญและการบูรณาการดังกล่าว จึงจัดโครงการพัฒนานักศึกษาชั้นปีที่ 1 ให้เป็น อสม.น้อย ประจำปีการศึกษา 2562 โดยฝึกให้นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ที่ลงทะเบียนเรียนในรายวิชานี้ ได้ฝึกฝนการเป็นผู้ดำเนินการเอง ภายใต้การกำกับดูแลของอาจารย์ผู้รับผิดชอบรายวิชา และคณะกรรมการหลักสูตรฯ เพื่อเป็นกิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพทางสาธารณสุขชุมชนให้แก่นักศึกษา