วันเสาร์, 11 มกราคม 2568

นักวิจัย ม.ทักษิณ คว้า 2 รางวัลจากการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ (iENA 2022)

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยทักษิณ ภายใต้การสนับสนับสนุนจากกองทุนวิจัยมหาวิทยาลัยทักษิณ และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นำผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมเข้าร่วมประกวดและจัดแสดงในงาน “The International Trade Fair-Ideas, Inventions and New products” (iENA 2022) ซึ่งมีกำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 27 – 30 ตุลาคม 2565 ณ เมืองนูเรมเบิร์ก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซี่งมหาวิทยาลัยทักษิณได้นำผลงาน เรื่อง เครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนพลังงานชีวมวลเพื่อเพิ่มสมรรถนะโรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์  Biomass Heat Exchanger to Enhance the Performance of the Solar Drying Room โดยมีนักวิจัยคือ รองศาสตราจารย์ ดร.จตุพร  แก้วอ่อน นางสาวอมาวสี  รักเรือง ดร.นเรศ  ฉิมเรศ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และ ศาสตราจารย์ ดร.สมชาย  วงศ์วิเศษ  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เข้าร่วมประกวดในงานครั้งนี้ ซึ่งผลปรากฎว่านักวิจัยมหาวิทยาลัยทักษิณสามารถคว้ารางวัลจากการประกวด จำนวน 2 รางวัล ดังนี้

1.รางวัลระดับ เหรียญเงิน  Silbermedaille (Silver medal)

          2.รางวัล Special award from Vietnam

          สำหรับการจัดงาน ”The International Trade Fair-Ideas, Inventions and New Products” (iENA 2022) จัดขึ้นเป็นปีที่ 74  เพื่อเป็นเวทีการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติที่สำคัญในสหภาพยุโรป โดยมีนักประดิษฐ์และนักวิจัยจากทั่วโลกนำผลงานเข้าประกวดและจัดแสดงกว่า 500 ผลงาน จากกว่า 20 ประเทศ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมชมงานมากกว่า 10,000 คน  สำหรับผลงานของนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยได้รับเหรียญรางวัลจาก iENA2022 ดังนี้ 1) เหรียญทอง  10 ผลงาน  2) เหรียญเงิน  13 ผลงาน 3) เหรียญทองแดง  6   สำหรับผลงาน  10 หน่วยงานจากประเทศไทยที่ร่วมคว้ารางวัลในงาน “The International Trade Fair-Ideas, Inventions and New Products” (iENA 2022) ได้แก่

• มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

• มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

• มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

• มหาวิทยาลัยทักษิณ

• มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

• หอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทย

• การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

• การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

• การประปานครหลวง

• ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

ซึ่งผลงานจากประเทศไทยที่เข้าร่วมประกวดในครั้งนี้ เป็นผลงานที่ผ่านการพิจารณาโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการกลั่นกรองในเกณฑ์ที่ให้ความสำคัญ ได้แก่ มาตรฐานของผลงานประดิษฐ์คิดค้นและผลงานวิจัย ความพร้อมในการนำผลงานไปใช้ประโยชน์ ผลงานที่มีกระบวนการยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้ง ผลงานที่ได้รับรางวัลในเวทีระดับประเทศ อาทิ รางวัลการวิจัยแห่งชาติ เป็นต้น