วันเสาร์, 28 ธันวาคม 2567

กฟผ. ชี้แจงสื่อมวลชนในพื้นที่จังหวัดสงขลา กรณีการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งก๊าซ JDA-A18 ในวันที่ 1-14 สิงหาคม 2565

วันที่ 1 สิงหาคม 2565 นายรังสิต แก้วหวังสกูล ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าจะนะ ร่วมกับหน่วยงาน กฟผ. ชี้แจงสื่อมวลชนในพื้นที่จังหวัดสงขลา กรณีการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งก๊าซ JDA-A18 ในวันที่ 1-14 สิงหาคม 2565 ส่งผลให้ไม่สามารถส่งจ่ายก๊าซฯ ให้กับโรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา ซึ่งเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าสำคัญในพื้นที่ภาคใต้ได้ตามปกติ กฟผ. ได้เตรียมความพร้อมโดยให้โรงไฟฟ้าจะนะเปลี่ยนเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ มาใช้น้ำมันดีเซลทดแทน และเตรียมพร้อมมาตรการ 5 ด้าน เพื่อไม่ให้กระทบต่อการใช้ไฟฟ้าของประชาชนในภาพรวม ประกอบด้วย

• ด้านเชื้อเพลิง ได้สำรองปริมาณน้ำมันดีเซลไว้สำหรับเดินเครื่องโรงไฟฟ้าจะนะให้เพียงพอต่อความต้องการใช้งานในช่วงเวลาหยุดจ่ายก๊าซฯ รวมทั้งมีแผนรองรับหากการทำงานล่าช้ากว่ากำหนด• ด้านระบบผลิต เตรียมการให้โรงไฟฟ้าจะนะเดินเครื่องด้วยน้ำมันดีเซล พร้อมประสานโรงไฟฟ้าอื่น ๆ ในภาคใต้ ได้แก่ โรงไฟฟ้าขนอม โรงไฟฟ้ากระบี่ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนรัชชประภา เขื่อนบางลาง โรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านสันติ และโรงไฟฟ้า SPP ให้เตรียมเดินเครื่องเต็มกำลังการผลิต ทำให้มีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 2,914 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของภาคใต้ที่คาดการณ์ในช่วงเวลาการหยุดจ่ายก๊าซฯ ไว้ประมาณ 2,500 เมกะวัตต์ และในกรณีฉุกเฉินสามารถรับไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซียได้ทันที

• ด้านระบบส่ง มีการส่งไฟฟ้าเชื่อมโยงจากภาคกลางมายังภาคใต้อีก 800-1,100 เมกะวัตต์ ผ่านสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 500 กิโลโวลต์ (kV) บางสะพาน2-สุราษฎร์ธานี2-ภูเก็ต3 อีกทั้งตรวจสอบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงและอุปกรณ์สำคัญให้พร้อมใช้งาน รวมถึงงดการทำงานบำรุงรักษาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง• ด้านบุคลากร ได้จัดเตรียมทีมงานเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมเข้าแก้ไขสถานการณ์ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน

• ด้านผู้ใช้ไฟฟ้า กฟผ. ขอความร่วมมือจากภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาชน ร่วมกันประหยัดพลังงานไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 1-14 สิงหาคม 2565 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลา 18.00-21.30 น. ซึ่งเป็นช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดทั้งนี้ ได้ให้ความเชื่อมั่นด้านความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าในภาคใต้ และ อธิบายถึงความจำเป็นในการประหยัดพลังงานให้สื่อมวลชนได้รับทราบและเป็นกระบอกเสียงในการสื่อสารให้ประชาชนต่อไป