วันเสาร์, 11 มกราคม 2568

“คณะมโนราห์สิงขรศิลป์” ผลผลิต รร.แจ้งวิทยา-มรภ.สงขลา กวาด 3 รางวัลประกวดศิลปะการแสดงพื้นบ้านมโนราห์

คณะมโนราห์สิงขรศิลป์ ผลผลิตโรงเรียนแจ้งวิทยา และนักศึกษาสาขาวิชานาฏศิลป์และการแสดง- สาขาวิชาดนตรีไทย โชว์ผลงานยอดเยี่ยม คว้ารางวัลชนะเลิศ รับถ้วยเกียรติยศพร้อมทุนส่งเสริม 40,000 บาท ควบรางวัลลูกคู่ดีเด่น และ รางวัลความเป็นเอกภาพดีเด่น จากเวทีประกวดศิลปะการแสดงพื้นบ้านมโนราห์

เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2565 ดร.นิวัตน์ ลิ้มสุขนิรันดร์ อธิบดีกรมพลศึกษา เดินทางมาเป็นประธานเปิดการประกวดศิลปะการแสดงพื้นบ้านมโนราห์ ในงานมหกรรมภูมิปัญญานันทนาการท้องถิ่นภาคใต้ “มโนราห์” ประจำปี 2565 รอบชิงชนะเลิศ ณ โรงสีแดง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา จัดโดยสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสงขลา ร่วมกับ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา บริษัท หาดทิพย์ จำกัด มหาชน และภาคีคนรักเมืองสงขลา

วัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านนันทนาการสู่ชุมชน เปิดโอกาสให้ประชาชน ทุกเพศ ทุกวัยได้แสดงความสามารถด้านนันทนาการและภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยจัดประกวดรอบคัดเลือกคณะศิลปะการแสดงพื้นบ้านมโนราห์เพื่อเข้าร่วมการประกวดในรอบชิงชนะเลิศ จาก 5 จังหวัด ได้แก่ สตูล นครศรีธรรมราช สุราษฏร์ธานี พัทลุง และ สงขลา โดยได้รับเกียรติจาก “ครูทวน ทวนยก” ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน) ร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสินรางวัล

ผลการประกวดปรากฏว่า คณะมโนราห์สิงขรศิลป์ จังหวัดสงขลา นำทีมโดย อาจารย์ยุทธพงศ์ ช่วยนาเขต ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของ นักเรียนโรงเรียนแจ้งวิทยา และนักศึกษาสาขาวิชานาฏศิลป์และการแสดง นักศึกษาสาขาวิชาดนตรีไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา สามารถคว้ามาได้ 3 รางวัล ได้แก่ ได้รับรางวัลชนะเลิศ รับถ้วยเกียรติยศจากกรมพลศึกษา พร้อมทุนส่งเสริม 40,000 บาท รางวัลลูกคู่ดีเด่น รับถ้วยเกียรติยศ พร้อมทุนส่งเสริม 1,500 บาท รางวัลความเป็นเอกภาพดีเด่น รับถ้วยเกียรติยศ พร้อมทุนส่งเสริม 1,500 บาท

อาจารย์ยุทธพงศ์ กล่าวว่า โนราทีมสิงขรศิลป์ได้รับการประสานงานจากการกีฬาและการท่องเที่ยวจากจังหวัดสงขลา ให้จัดทำทีมโนราส่งเข้าประกวด แต่เนื่องจากมีเวลาเหลืออีก 3 วันสุดท้าย จึงนัดนักเรียนและนักศึกษาประชุมวางแผนการทำงาน แบ่งฝ่ายงานกันดำเนินงาน โดยมีครูหญิงจากโรงเรียนแจ้งวิทยา และตนในฐานะอาจารย์จากสาขาวิชานาฏศิลป์ และนักศึกษาร่วมระดมสมองกับออกแบบกระบวนท่ารำ โดยคำนึงถึงท่ารำนั้นต้องให้ง่ายที่สุด เนื่องจากมีเวลาซ้อมน้อยมาก และครูอูฐครูจากโรงเรียนแจ้งวิทยากำกับดูแลนักดนตรี ส่วนของบทประพันธ์ที่ใช้ทางทีมประกวดกำหนดให้มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชินี พร้อมทั้งโยงเข้าสู่การออกกำลังกาย หลังจากวันนั้นที่ร่วมประชุม ก็ได้ฝึกซ้อมปรับท่ารำ ตัดทอนท่ารำ จนถึงวันที่นักศึกษาเราขึ้นสังเวียน จาก 11 ทีมทั่วทั้งภาคใต้ ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 และรางวัลลูกคู่ดีเด่น และรางวัลความเป็นเอกภาพของทีมดีเด่น กวาดไป 3 รางวัล ตนน้ำตาไหลเลย ชื่นชมนักศึกษาที่มีความขยัน อดทน อึด จนสามารถได้รับชัยชนะ

“เมื่อทางพิธีกรประกาศรางวัล สิ่งที่เราเห็นคือนักศึกษากอดและจับกลุ่มรอลุ้นไปด้วยกัน ขณะนั้นผมใจแทบจะวาย ดีใจที่สุด ภูมิใจที่สุด แม้ห่างหายจากการฝึกซ้อมไปนาน ดีใจอย่างบอกไม่ถูก ต้องขอบพระคุณท่านอธิการฯ ท่านคณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนแจ้งวิทยา ประธานสาขาวิชานาฏศิลป์ ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายงานที่ช่วยทั้งทางตรงและทางอ้อม จนทำให้ทีม สิงขรศิลป์ คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 และอีก 2 รางวัลมาครองได้” อาจารย์ยุทธพงศ์ กล่าว