วันเสาร์, 11 มกราคม 2568

มรภ.สงขลา เปิดเวทีวิพากษ์ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาฯ ระยะ 5 ปี เทียบเชิญกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมแสดงความคิดเห็น

มรภ.สงขลา จัดโครงการวิพากษ์ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาฯ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) เทียบเชิญบุคลากรภายในและหน่วยงานภายนอก ในฐานะกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมแสดงความคิดเห็น หวังสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ปูทางสู่การพัฒนาท้องถิ่นร่วมกัน

รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา  (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 มรภ.สงขลา จัดโครงการวิพากษ์ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) เพื่อรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของมหาวิทยาลัย ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ มหาวิทยาลัยในพื้นที่ คณะผู้บริหาร บุคลากร และผู้แทนนักศึกษา เข้ามารับรู้แผนยุทธศาสตร์ฯ และให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การพัฒนา มรภ.สงขลา โดยมีการเชิญผู้แทนจากหน่วยงานภายนอกที่เข้าร่วมโครงการวิพากษ์ฯ ดังนี้ 1. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 2. มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ 3. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย 4. มหาวิทยาลัยทักษิณ 5. องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา 6. เทศบาลเมืองเขารูปช้าง 7. เทศบาลตำบลเกาะแต้ว 8. เทศบาลตำบลกำแพง 9. สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานสตูล 10. เกษตรและสหกรณ์จังหวัดสตูล

รศ.ดร.ทัศนา กล่าวว่า มรภ.สงขลา ให้ความสำคัญต่อการทำงานพัฒนาที่ตอบสนองและสอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น ดังจะเห็นได้จากการทำงานวิจัยและการบริการวิชาการที่อยู่บนพื้นฐานความต้องการของชุมชน ตัวอย่างเช่น ร่วมขับเคลื่อนสงขลาเมืองมรดกโลก ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายจัดอบรมโนราให้แก่เด็กและเยาวชนในพื้นที่จังหวัดสตูล เป็นต้น ตนจึงอยากให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการวิพากษ์ฯ ในครั้งนี้ ช่วยกันทำให้แผนยุทธศาสตร์ฯ ของ มรภ.สงขลา ใน 5 ปีข้างหน้ามีความชัดเจน ช่วยกันเติมเต็มซึ่งกันและกัน เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนามหาวิทยาลัยและท้องถิ่นอย่างแท้จริง

โอกาสเดียวกันนี้ ผศ.ดร.วีระชัย แสงฉาย รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและงบประมาณ ได้นำเสนอข้อมูลพื้นฐานของมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และนำเสนอ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) รวมถึงดำเนินรายการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ฯ เพื่อทางมหาวิทยาลัยจะได้นำข้อมูลที่ได้รับไปจัดเตรียมแผนการทำงานสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ลดความซ้ำซ้อนของงาน และช่วยกันทำงานเพื่อพัฒนาท้องถิ่นร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลต่อไป