วันอาทิตย์, 24 พฤศจิกายน 2567

มรภ.สงขลา ใช้นวัตกรรมช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ต.เกาะแต้ว ประยุกต์เทคโนโลยีพลังงานทดแทนเพิ่มผลผลิตเกษตร ควบคู่พัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน

มรภ.สงขลา เดินหน้าโครงการชุมชนต้นแบบยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมชุมชนเกาะแต้ว ปีที่ 2 ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีพลังงานทดแทนร่วมกับระบบนิเวศวิศวกรรม ช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ควบคู่พัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน สนองพระบรมราโชบายรัชกาลที่ 10 ในการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น

เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ร่วมกันจัดสรุปผลโครงการชุมชนต้นแบบการยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมชุมชนเกาะแต้ว ปีที่ 2 กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ การประยุกต์เทคโนโลยีพลังงานทดแทน ร่วมกับระบบนิเวศวิศวกรรม เพื่อยกระดับผลผลิตทางการเกษตร และ กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน ต.เกาะแต้ว ซึ่งเป็นโครงการตามพระบรมราโชบายรัชกาลที่ 10 โดย ดร.กันตภณ มะหาหมัด คณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ผศ.ดร.คุลยา ศรีโยม รองคณบดี พร้อมด้วยสถาบันวิจัยและพัฒนา นำโดย ผศ.ดร.สายฝน ไชยศรี และ ผศ.ดร.คมวิทย์ ศิริธร รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา บุคลากร นางสาวเกศสุพร มากสาขา นายณัฐพงษ์ ยีหวังเจริญ นางนันทิกา หมานโต๊ะเหม นางสาวอัจฉรา แซ่บ้าง และทีมผู้จ้างงานภายใต้โครงการ U2T ตลอดจน นายไกรสร พรหมรักษ์ รองนายกเทศมนตรีตำบลเกาะแต้ว เข้าร่วมกิจกรรม

โอกาสเดียวกันนี้ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา นำโดย ดร.มงคล เทพรัตน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร ผศ.ดร.อมรรัตน์ ชุมทอง รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณาจารย์ของทางคณะฯ ผศ.ดร.ภัทรพร ภักดีฉนวน อาจารย์ ดร.ศุภัครชา อภิรติกร ร่วมลงพื้นที่ ต.เกาะแต้ว ทำกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย

ดร.กันตภณ มะหาหมัด คณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรภ.สงขลา กล่าวถึงที่มาและความสำคัญของโครงการฯ ว่า มรภ.สงขลา ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ตระหนักถึงภารกิจในการพัฒนาชุมชน จึงได้จัดทำโครงการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน โดยการให้บริการวิชาการแก่ชุมชนและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ให้เกิดความยั่งยืนสู่การเป็นชุมชนต้นแบบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพื้นที่ ต.เกาะแต้ว เป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตความรับผิดชอบของคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านการเกษตรยังประสบปัญหาด้านความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพ ทางคณะฯ จึงจัดทำโครงการนี้เป็นปีที่ 2 เพื่อช่วยยกระดับการเพาะปลูก การแปรรูปและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ในลักษณะการดำเนินการแบบบูรณาการโครงการในเขตพื้นที่หมู่ที่ 6 บ้านเกาะแต้ว อ.เมือง จ.สงขลา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนสู่การเป็นชุมชนต้นแบบที่มีความอย่างยั่งยืน

                ด้าน ดร.มงคล เทพรัตน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา กล่าวว่า ทางคณะฯ ได้รับความร่วมมือด้วยดีเสมอมาจากเกษตรกรในชุมชนในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านการเกษตรอยู่แล้ว ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องพบว่าเกษตรกรยังประสบปัญหาด้านความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพ จึงได้กำหนดให้มีการจัดทำโครงการเพื่อร่วมกันในการพัฒนาท้องถิ่น เป็นชุมชนต้นแบบการยกระดับคุณภาพชีวิตในลักษณะการดำเนินการแบบบูรณาการโครงการ ในเขตพื้นที่หมู่ที่ 6 บ้านเกาะแต้ว อ.เมือง จ.สงขลา  

                ผศ.ดร.อมรรัตน์ ชุมทอง รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา กล่าวเสริมว่า ในส่วนความรับผิดชอบของทางคณะฯ ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การทำนาหมุนเวียน การรักษาพันธุ์ข้าวพื้นเมือง การปลูกพืชหลังนา การอนุรักษ์วิธีการเก็บเกี่ยว และการนำนักศึกษาลงพื้นที่เพื่อเรียนรู้สถานที่จริงของชุมชน ในการทำโจทย์วิจัยเชิงพื้นที่เพื่อให้เกิดการพัฒนาโดยมีหมู่ 6 และ หมู่ 7 เป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่นๆ ในการถ่ายทอดแบบอย่างที่ดีต่อไป