อาจารย์หลักสูตรเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ มรภ.สงขลา ทำวิจัยปรับปรุงสมบัติทนความร้อนยางธรรมชาติ ทดแทนยางสังเคราะห์ EPDM สร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรสำคัญของภาคใต้ เผยผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ ร่วมกับมหาวิทยาลัยในฝรั่งเศส
ผศ.ดร.พลพัฒน์ รวมเจริญ อาจารย์ประจำหลักสูตรเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า บทความวิจัยเรื่อง การปรับปรุงสมบัติทนความร้อนของยางธรรมชาติ เพื่อทดแทนยางสังเคราะห์ EPDM ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Hydrogenated Natural Rubber as an Alternative Replacement to Ethylene-Propylene-Diene-Monomer (EPDM) Rubber in Terms of Thermal-Oxidative Degradation Properties ซึ่งเป็นงานวิจัยที่มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากผลผลิตจากยางพารา อันเป็นการเพิ่มคุณสมบัติและมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญของภาคใต้ ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Polymer Science, Series B ในปี พศ. 2562 นี้
ผศ.ดร.พลพัฒน์ กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมยางเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญในประเทศไทยและมีการใช้ยางสังเคราะห์อย่างมาก เช่น ในอุตสาหกรรมรถยนต์ ได้มีการใช้ยางสังเคราะห์เป็นผลิตภัณฑ์อะไหล่ ยางรถยนต์ ฯลฯ แต่อย่างไรก็ตาม ยางสังเคราะห์ที่ผลิตขึ้นใช้วัตถุดิบจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป ทำให้ต้นทุนในการผลิตราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันแนวทางการวิจัยจึงมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากยางธรรมชาติ ซึ่งเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญของประเทศไทย โดยทั่วไปแล้วยางธรรมชาติมีสมบัติที่ดีหลายประการ เช่น ความยืดหยุ่นความแข็งแรง ฯลฯ อย่างไรก็ตามยางธรรมชาติมีสมบัติบางประการที่ด้อยกว่ายางสังเคราะห์ หนึ่งในข้อด้อยนั้นคือไม่ทนต่อสภาพอากาศ เสื่อมสภาพได้ง่ายเมื่อทำงานภายใต้ความร้อน ดังนั้น งานวิจัยนี้จึงพยายามแก้ปัญหาดังกล่าว โดยบูรณาการความรู้เกี่ยวกับยางพารา ในด้านเคมี การแปรรูป และสมบัติการใช้งาน
ผศ.ดร.พลพัฒน์ กล่าวอีกว่า ผลงานวิจัยนี้เป็นผลผลิตจากความร่วมมือด้านการวิจัยในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับ Le Mans Universite ประเทศฝรั่งเศส อย่างต่อเนื่อง ปรากฏชัดเจนเป็นรูปธรรม รวมทั้งบูรณาการความร่วมกับมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยก่อนหน้านี้ทีมวิจัยได้มีงานตีพิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับการดัดแปรโครงสร้างทางเคมีของยางธรรมชาติต่อสมบัติความทนโอโซนในวารสาร Polymer Degradation and Stability ในปี พ.ศ. 2560 หลังจากนั้นมีการทำวิจัยต่อเนื่องเพื่อศึกษาสมบัติของยางดัดแปร และพบว่ายางดังกล่าวยังทนต่อความร้อนได้มากกว่าผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติทั่วไป อันเป็นผลสำเร็จของผลงานวิจัยครั้งนี้ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น