อาจารย์คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา“ผศ.ดร.ภัทรพร ภักดีฉนวน” แก้ปัญหาเกษตรกรเสี่ยงอันตรายจากการใช้กระป๋องใส่ถ่านติดไฟ คิดค้นเครื่องเจาะรูพลาสติกคลุมดิน เผยจุดเด่นน้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายสะดวก ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ
ผศ.ดร.ภัทรพร ภักดีฉนวน อาจารย์สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงผลงานวิจัยเครื่องเจาะรูพลาสติกคลุมดิน ซึ่งได้รับการจดทะเบียนอนุสิทธิบัตรการประดิษฐ์จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ที่ผ่านมาเกษตรกรใช้ประโยชน์จากพลาสติกคลุมดินแปลงปลูกพืช เพื่อควบคุมอุณหภูมิของดิน ลดแรงกระแทกจากเม็ดฝนที่ตกหนัก ลดการระเหยของน้ำจากดิน และการป้องกันวัชพืช ซึ่งพลาสติกคลุมดินที่นิยมใช้มี 2 แบบ คือ แบบเจาะรูสำเร็จรูปและแบบไม่เจาะรู เกษตรกรโดยส่วนใหญ่เลือกใช้พลาสติกคลุมดินแบบไม่เจาะรู เนื่องจากมีราคาถูกกว่าแบบเจาะรูสำเร็จรูป แต่เกษตรกรต้องเจาะรูพลาสติกเองเมื่อนำมาใช้คลุมดินในแปลงปลูกพืช โดยทั่วไปเกษตรกรนิยมใช้อุปกรณ์ที่ประกอบด้วยกระป๋องสำหรับใส่ถ่านติดไฟ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงให้ความร้อนเพื่อละลายพลาสติกให้ขาดเป็นรูตามขนาดที่ต้องการสำหรับปลูกพืช
อย่างไรก็ตาม กระป๋องใส่ถ่านติดไฟดังกล่าวมีข้อจำกัดหลายประการ อาทิ มีโอกาสเสี่ยงได้รับอันตรายจากเชื้อเพลิงที่ใช้ ก่อให้เกิดมลพิษจากการละลายพลาสติก และต้องเติมเชื้อเพลิงที่ให้พลังงานความร้อนอยู่บ่อยครั้งในขณะใช้งาน ทั้งยังต้องเปลี่ยนอุปกรณ์สำหรับใส่เชื้อเพลิงบ่อยครั้ง เนื่องจากความเสียหายจากการเผาไหม้ เกิดการเยิ้มของพลาสติกที่ละลายซึ่งเหนียวหนืดติดกระป๋อง และไม่ขาดหลุดจากแผ่นพลาสติก ทำให้ต้องเสียเวลาในการหยิบออก นอกจากนั้น ไม่มีเครื่องมือวัดระยะห่างระหว่างรูที่เจาะ ทำให้ได้ระยะห่างระหว่างหลุมปลูกที่ไม่สม่ำเสมอกัน และหากต้องการกำหนดระยะปลูก ทำให้ต้องเสียเวลาในการวัดระยะและทำเครื่องหมายบนพลาสติกคลุมแปลง เพื่อกำหนดระยะห่างระหว่างหลุมปลูก และสามารถเจาะรูได้เพียงครั้งละ 1 รูเท่านั้น
ผศ.ดร.ภัทรพร กล่าวว่า ตนเล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าวจึงได้ประดิษฐ์เครื่องเจาะรูพลาสติกคลุมดิน ออกแบบโดยใช้ความคมของอุปกรณ์และแรงกดในการทำให้พลาสติกขาดเป็นรู ซึ่งแก้ไขข้อจำกัดของกระป๋องใส่ถ่านติดไฟที่เกษตรกรนิยมใช้ โดยมีข้อดีหลายประการ ดังนี้ 1. สามารถเจาะรูพลาสติกคลุมดินได้โดยมีความปลอดภัยในการใช้งานและไม่ก่อให้เกิดมลพิษ 2. สามารถปรับเปลี่ยนระยะห่างระหว่างรูและขนาดของรูที่ต้องการเจาะได้ 3. สามารถเจาะรูได้พร้อมกันครั้งละ 2 รู ทั้งเพื่อการปลูกแบบแถวเดี่ยวและแถวคู่ โดยเจาะรูได้จำนวนมากและรวดเร็วขึ้น 4. สามารถเจาะรูอย่างต่อเนื่องโดยได้ระยะห่างระหว่างรูและขนาดของรูที่เจาะแล้วสม่ำเสมอกันพร้อมเก็บเศษพลาสติกที่ขาดหลุดจากการเจาะได้ 5. สามารถดันดินที่ติดค้างในอุปกรณ์เจาะรูพลาสติกคลุมดินออกได้ และ 6. เครื่องเจาะรูพลาสติกคลุมดินนี้ถูกออกแบบให้มีน้ำหนักเบาสามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก วิธีการใช้งานในการเจาะรูพลาสติกคลุมดินไม่ยุ่งยากซับซ้อน และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกับอุปกรณ์เจาะหลุมปลูกได้