วันศุกร์ ที่ 2 กรกฎาคม 2564 สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้จัดกิจกรรมสรุปผลการดำเนินงานหลักสูตร Deep South Innovation Business Coaching Program 2021 หลักสูตรฝึกอบรมการจัดการนวัตกรรม สำหรับพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ประจำปี 2021 ซึ่งจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (COVID-19) จึงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานมาเป็นระบบออนไลน์ผ่านทาง Program Zoom Cloud Meeting และได้รับเกียรติจาก ดร.สุรอรรถ ศุภจัตุรัส ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) มากล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “โอกาสและทิศทางในการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้”
“แม้ในยามวิกฤติยังมีโอกาสเสมอ ทุกท่านคือผู้ประกอบการที่เข้าใจ และใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อนธุรกิจ หลังจากจบกิจกรรมนี้เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ประกอบการทุกท่านจะใช่สิ่งที่เรียนรู้ไปต่อยอด ก่อเกิดเป็นทรายเม็ดใหม่ ที่ทำธุรกิจนวัตกรรมโดยใช้การสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งในด้านเงินทุน เศรษฐกิจ สังคม เป็นตัวเร่งให้ธุรกิจของท่านเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และยั่งยืน”
5 ธุรกิจนวัตกรรม กับความท้าทายภาคใต้ชายแดน ซึ่งได้แก่
1.AGTECH, FOODTECH นวัตกรรมด้านการเกษตร และอาหาร
2.HEALTHTECH นวัตกรรมด้านสุขภาพ
3.EDTECH นวัตกรรมด้านการศึกษา
4.TRAVELTECH นวัตกรรมด้านการท่องเที่ยว
5.MARTHTECH นวัตกรรมด้านดนตรี ศิลปะ และนันทนาการ
นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมให้คำปรึกษาเพิ่มเติมกับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการซึ่งจัดให้มีการให้คำปรึกษาในด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมซึ่งได้รับเกียรติจาก คุณอภิวัฒน์ ถาวรแก้ว,ดร.สุนันท์ ขามิ,คุณฟาฎีละห์ ยือโร๊ะ ทีมนักพัฒนานวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และการให้คำปรึกษาในด้านตลาด โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ณัฐนรินทร์ เนียมประดิษฐ์ นายกก่อตั้งและที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมการค้าส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ SMEs และ ภก.พท นราพงษ์ ชมภูธัญ Founder & CEO – NavisPLUS ที่จะมาร่วมให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการในครั้งนี้ด้วย
รวมทั้งยังมีการแชร์ประสบการณ์จากนวัตกรรุ่นพี่หลักสูตร Deep South Innovation Business Coaching Program 2019 คุณปริยากร ธรรมพุทธสิริ โครงการเครื่องแยกเส้นใยจากใบสับปะรด และ การ show pitching จากตัวแทนผู้ประกอบการที่เข้าร่วมหลักสูตร โดยในปี 2564 มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมหลักสูตรทั้งสิ้น 33 โครงการ และมีโครงการที่ได้รับทุน Open Innovation แล้ว 7 โครงการ และส่วนหนึ่งอยู่ระหว่างการขอรับพิจารณารับทุนในลำดับถัดไป