วันศุกร์, 22 พฤศจิกายน 2567

สำนักศิลปะฯ มรภ.สงขลา สร้างเครือข่ายคนรุ่นใหม่ร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและ

สำนักศิลปะฯ มรภ.สงขลา สร้างเครือข่ายคนรุ่นใหม่ร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่น

                สำนักศิลปะฯ มรภ.สงขลา ชวนคนรุ่นใหม่ร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่น ห่วงการเจริญเติบโตของเมืองทำแหล่งศิลปกรรมถูกคุกคาม จับมือชุมชนสร้างเครือข่ายเฝ้าระวัง   

อาจารย์โอภาส อิสโม ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ในฐานะหัวหน้าหน่วยอนุรักษ์ธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12 กันยายน ที่ผ่านมา ทางหน่วยอนุรักษ์ฯ นำนักศึกษา มรภ.สงขลา และนักเรียนโรงเรียนสงขลาวิทยาคม รวม 60 คน เดินทางไปศึกษาแหล่งเรียนรู้ศิลปกรรมท้องถิ่น จังหวัดสงขลา (ชุมชนหัวเขา) ในโครงการสัมมนาสร้างเครือข่ายผู้นำชุมชน และเยาวชนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม โดยมุ่งหวังให้กลุ่มผู้นำชุมชนและเยาวชนในพื้นที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการอนุรักษ์ และร่วมกันดำเนินงาน เกิดเป็นเครือข่ายการเฝ้าระวังปัญหาสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่น ทั้งยังได้ทะเบียนเครือข่ายบุคคลในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมของท้องถิ่นที่ผ่านการอบรมแล้ว เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

อาจารย์โอภาส กล่าวว่า ประเทศไทยมีแหล่งธรรมชาติและแหล่งศิลปกรรมที่สวยงามของท้องถิ่นกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะแหล่งน้ำ เกาะ แก่ง ชายหาด ภูเขา ถ้ำ น้ำตก โป่งพุร้อน ซากดึกดำบรรพ์ ธรณีสัณฐานและภูมิลักษณวรรณา รวมถึงแหล่งศิลปกรรมที่สำคัญ เช่น วัดเก่า เจดีย์เก่า โบสถ์หรือวิหาร สถูป ย่านชุมชนเก่า ชุมชนโบราณ กำแพงเมือง-คูเมือง เป็นต้น สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมมีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานที่ส่งเสริมและรักษาคุณค่า ตลอดจนคุณภาพของศิลปกรรมให้ดำรงอยู่และมีความหมายมากยิ่งขึ้น แต่จากการพัฒนาเศรษฐกิจและการเจริญเติบโตของเมือง รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ไม่ได้คำนึงถึงขีดความสามารถในการรองรับของพื้นที่ มีการจัดทำแผนแต่ขาดการนำแผนไปสู่การปฏิบัติ และขาดการดูแลรักษาที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ประกอบกับการมุ่งหวังรายได้ทางด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวเป็นหลัก ทำให้ทั้งตัวแหล่งธรรมชาติและแหล่งศิลปกรรม รวมถึงสิ่งแวดล้อมบริเวณโดยรอบถูกคุกคาม

หัวหน้าหน่วยอนุรักษ์ธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดสงขลา กล่าวอีกว่า สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดความเสียหายต่อแหล่งธรรมชาติและแหล่งศิลปกรรม รวมทั้งสภาพแวดล้อมโดยรอบ หากสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวเนื่องกับศิลปกรรมถูกทำลายหรือเสื่อมโทรมลง ย่อมส่งผลกระทบให้คุณภาพและคุณค่าของศิลปกรรมด้อยลง จนหมดความหมายในที่สุด จากความสำคัญดังกล่าวจึงนำมาสู่การสัมมนาสร้างเครือข่ายผู้นำชุมชนและเยาวชน ทั้งนี้ก็เพื่อให้สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมได้รับการเอาใจใส่ดูแลและอนุรักษ์อย่างถูกต้องเหมาะสม ตลอดจนสร้างจิตสำนึกแก่ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน