วันอาทิตย์, 24 พฤศจิกายน 2567

รมว.อว. เยือน มรภ.สงขลา บรรยายพิเศษ “พระมหากษัตริย์กับความเป็นไทย” แนะอาจารย์-นักวิจัย ใช้จุดแข็งใกล้ชิดชุมชน เป็นปัจจัยหลักขับเคลื่อนพัฒนาท้องถิ่น

ดร.เอนก” รัฐมนตรี อว. เยือน มรภ.สงขลา บรรยายพิเศษ “พระมหากษัตริย์กับความเป็นไทย”มอบนโยบายทิศทางอุดมศึกษากับการปรับตัวของราชภัฏ แนะอาจารย์-นักวิจัย ใช้จุดแข็งทำงานใกล้ชิดกับชุมชน เป็นปัจจัยหลักขับเคลื่อนพัฒนาท้องถิ่น

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) บรรยายพิเศษในหัวข้อ “พระมหากษัตริย์กับความเป็นไทย” ให้แก่คณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติฯ มรภ.สงขลา พร้อมมอบนโยบายเกี่ยวกับทิศทางอุดมศึกษาไทยกับการปรับตัวของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งการประชุมคณาจารย์ บุคลากรและนักศึกษาในครั้งนี้ เป็นการรวมพลังเพื่อขับเคลื่อน มรภ.สงขลา ให้มีแนวทางในการทำงานให้ก้าวข้ามกระแสความเปลี่ยนแปลงและอาศัยปัจจัยเชิงบวกของประเทศและชุมชน เป็นโอกาสให้มหาวิทยาลัยได้มีส่วนช่วยเหลือเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น

 รัฐมนตรี อว. กล่าวระหว่างการบรรยายตอนหนึ่งว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏมีภารกิจหลักในการพัฒนาท้องถิ่น ดังนั้น มาตรวัดความสำเร็จที่แท้จริงจึงเป็นการทำงานแก้ปัญหาให้กับท้องถิ่น อยากให้มหาวิทยาลัยราชภัฏใช้ประโยชน์จากความรู้ความสามารถของคณาจารย์และนักวิจัยให้มาก และใช้จุดแข็งจากการทำงานใกล้ชิดกับชุมชน มาเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่น รวมทั้งเปิดโอกาสให้อาจารย์ราชภัฏได้มีบทบาทในการทำงานเพื่อท้องถิ่นมากขึ้น เพราะจุดเด่นด้านความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในสภาพพื้นที่และความลุ่มลึกในประวัติศาสตร์ของชุมชนของเมือง เป็นปัจจัยในการเข้าถึงปัญหา มองเห็นปัญหาและแนวทางแก้ไข สามารถบูรณาการทรัพยากร ระดมผู้รู้และองค์ความรู้ไปพัฒนาท้องถิ่นและต่อยอดการพัฒนาท้องถิ่นที่มีอยู่เดิม ให้ประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

 รัฐมนตรี อว. กล่าวอีกว่า อาจารย์หลายคนอาจมีความถนัดในการสอนเป็นหลัก จะทำอย่างไรจึงจะฝึกปรือให้อาจารย์เหล่านี้เป็นนักพัฒนาท้องถิ่นและชุมชน ซึ่งหากสามารถทำได้ก็จะส่งผลไปยังการฝึกปรือนักศึกษาให้เป็นนักพัฒนาท้องถิ่นตามไปด้วย ขอฝากให้ชาวราชภัฏสงขลาทำงานตรงนี้ให้ดี อว. จะพยายามผ่อนคลายปัญหาอุปสรรคในการทำงานด้านการสอน การวิจัยและการบริการชุมชน สังคม ของอาจารย์ราชภัฏให้มากขึ้น และการพิจารณาผลงานเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยราชภัฏต่อไปนี้ จะเน้นผลงานในการพัฒนาท้องถิ่นเป็นหลัก เพื่อให้มหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นมหาวิทยาลัยเชิงปฏิบัติและทำงาน เพื่อความเจริญก้าวหน้าในทุกมิติของพื้นที่ ท้องถิ่น ภูมิภาคและประเทศชาติอย่างแท้จริง

“การทำงานของอาจารย์ ให้พยายามคิดเชิงยุทธศาสตร์ให้มากขึ้น อย่าวิตกกังวลกับทรัพยากรจนเกินไป ในการทำงานวิจัย งานวิชาการ ควรสนใจในศาสตร์อื่นนอกเหนือจากศาสตร์เฉพาะของตนเอง จะทำให้มีโลกทัศน์ที่ยิ่งใหญ่ สามารถเชื่อมโยงเรื่องต่างๆ ไปสู่การคิดวิเคราะห์ที่ก้าวหน้า อาจารย์ต้องคิดให้ใหญ่ เพราะความคิดจะกำหนดการกระทำ” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก กล่าว

 ด้าน ผศ.ดร.ทัศนา  ศิริโชติ รักษาราชการแทนอธิการบดี มรภ.สงขลา กล่าวว่า สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่มีความเกี่ยวพันกับประเทศ ทั้งยังผูกพันกับประชาชนมาตลอดจนถึงปัจจุบัน คนไทยมีความใกล้ชิดกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยเพราะพระมหากษัตริย์ไทยทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อให้พสกนิกรอยู่เย็นเป็นสุข นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงเป็นพระประมุขของชาติ เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทย จึงนับว่าเป็นสถาบันหลักของความมั่นคงของชาติ ซึ่ง มรภ.สงขลา ได้น้อมนำพระราโชบายด้านการศึกษาในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อกําหนดยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย

  มรภ.สงขลา มุ่งเน้นการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่น ที่มีส่วนช่วยในการใช้องค์ความรู้เพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยจัดกระบวนการเรียนรู้ให้นักศึกษามีความรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นในทุกมิติ มีทักษะ การประยุกต์ใช้ศาสตร์แขนงต่างๆ ในการพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน พร้อมกันนี้ ได้นำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ช่วยส่งเสริมอาชีพของชุมชน ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เพื่อสร้างเศรษฐกิจครัวเรือนให้เข้มแข็ง อันเป็นการสนองพระมหากรุณาธิคุณและพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มุ่งหมายให้มหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง ทั่วประเทศ ประสานพลังและศักยภาพเพื่อพัฒนาท้องถิ่นอย่างทั่วถึง

“มรภ.สงขลา น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกา ธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงได้น้อมนำแนวพระราชดำรัสมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติตนให้สมกับการเป็น คนของพระราชา ข้าของแผ่นดิน และได้สร้างอัตลักษณ์นักศึกษาให้เป็นคนดี มีทักษะชีวิต มีจิตสาธารณะ โดยน้อมนำศาสตร์พระราชามาใช้ในการจัดการเรียนการสอน การวิจัยและการบริการวิชาการ ส่งเสริมการทำกิจกรรมเสริมสร้างหลักสูตร และส่งเสริมการทำกิจกรรมจิตอาสา สนองพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเน้นให้มหาวิทยาลัยราชภัฏมุ่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่นตน” ผศ.ดร.ทัศนา กล่าว