วันเสาร์, 11 มกราคม 2568

ในหลวง โปรดเกล้าฯ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปพระราชทานปริญญาบัตร มรภ.สงขลา

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จแทนพระองค์ไปยังหอประชุมวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ที่สำเร็จการศึกษาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2561- มิถุนายน 2563 โดยมีบัณฑิตเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในครั้งนี้จำนวน 3,457 คน มหาบัณฑิต 19 คน

ในการนี้ สภามหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ได้มีมติอนุมัติปริญญากิตติมศักดิ์ให้แก่ผู้ที่มีผลงานโดดเด่นในสาขาต่างๆ ดังนี้ นายเศกพล อุ่นสำราญ ปริญญาดุริยางคศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาดุริยางคศิลป์ตะวันตก นักประพันธ์เพลงและนักดนตรีแซกโซโฟนผู้นำองค์ความรู้ทางด้านดนตรีไทย ดนตรีลูกทุ่งไทย และดนตรีพื้นบ้าน มาสร้างสรรค์โดยเรียบเรียงเสียงประสานทางดนตรีแจ๊ส เป็นผลงานดุริยวรรณกรรมร่วมสมัย และได้จัดคอนเสิร์ตไปทั่วโลก

นางชนานันท์ สังข์ทอง ปริญญาสาธารณสุขศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสาธารณสุขชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน สังกัดโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านทุ่งหวัง ผู้เป็นแกนนำขับเคลื่อนชุมชนร่วมกับภาคีเครือข่ายจากทุกภาคส่วน พัฒนาชุมชนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีผลงานโดดเด่นด้านจิตอาสาจัดการขยะชุมชน จนเกิดรูปแบบนวัตกรรมการจัดการขยะ “อ่างทองโมเดล 3 Rs” คือการจัดการขยะอย่างเป็นระบบและถูกวิธี มีการติดตามผลระดับครัวเรือน เป็นผลให้เกิดการเพิ่มมูลค่าของขยะตามบริบทของชุมชน ส่งผลให้ได้รับรางวัลทั้งระดับจังหวัดและระดับชาติ

ตลอดระยะเวลากว่า 100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาได้ทำหน้าที่เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง กำหนดจุดมุ่งหมายด้านการผลิตบัณฑิตให้มีคุณธรรม จริยธรรม มีความรอบรู้ มีทักษะทางวิชาชีพที่ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับของตลาดแรงงานในพื้นที่ เป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพระดับสากล เป็นผู้สืบสานทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่น นำเศรษฐกิจสังคมท้องถิ่นสู่สากลอย่างยั่งยืน

ประการสำคัญ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาได้น้อมนำพระบรมราโชบายมาใช้เป็นหลักในการดำเนินงาน มุ่งจัดการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ให้นักศึกษาได้เรียนรู้ทฤษฎีกับการลงปฏิบัติการในพื้นที่ และมีการศึกษาร่วมมือกับเครือข่ายต่างประเทศ เพื่อพัฒนาสู่มาตรฐานวิชาชีพและการพัฒนาทักษะชีวิต เชื่อมโยงกับส่วนการพัฒนาท้องถิ่น โดยระดมสรรพกำลังจากทุกสาขาวิชา ร่วมกับองค์กรเครือข่าย นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะการตอบสนองความต้องการด้านปัจจัยสี่ ตลอดจนการจัดการสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง