วันนี้ (8 พฤศจิกายน 2567) เวลา 14.00 น. ณ ห้องรับรอง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี พลโท ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 พร้อมคณะฯ ให้การต้อนรับสมาชิกวุฒิสภาจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้และคณะที่ปรึกษากรรมาธิการทหาร นำโดย นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล สมาชิกวุฒิสภา / นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้ พร้อมด้วยสมาชิกวุฒิสภาจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล เข้าพบ พลโท ไพศาล หนูสังข์ เพื่อร่วมแสดงความยินดี ในการเข้ารับตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 และร่วมพูดคุยหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเน้นการใช้การศึกษาเป็นฐานในการพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมไปถึงการสร้างความเข้าใจแก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ เพื่อสร้างสันติสุขอย่างยั่งยืนในพื้นที่ต่อไป
โอกาสนี้ พลโท ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้กล่าวขอบคุณ นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล สมาชิกวุฒิสภา / นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้ และคณะฯ ที่ได้เดินทางมาร่วมแสดงความยินดี โดยตนรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ให้การต้อนรับคณะ แต่ขณะเดียวกัน ตนต้องคิดให้มากขึ้นและทำให้มากขึ้น ให้สมกับที่ทุกท่านได้มาร่วมแสดงความยินดี และรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 สำหรับการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น จากประสบการณ์การทำงานในพื้นที่มาอย่างยาวนาน ทำให้เข้าใจและพร้อมที่จะแก้ไขปัญหา โดยใช้กระบวนการสร้างการรับรู้ 2 P คือ Perception (การรับรู้) และ Process (กระบวนการ) เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับพี่น้องประชาชน ภาคประชาสังคม รวมไปถึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นฐานนำไปสู่การสร้างสันติสุขในพื้นที่
นอกจากนี้ คณะสมาชิกวุฒิสภาจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และคณะที่ปรึกษากรรมาธิการทหาร ยังได้ร่วมหารือและเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยเน้นการส่งเสริมการศึกษาให้กับเยาวชนกลุ่มเปราะบาง ทั้งในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานและหลักสูตรเร่งรัด เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างคนดีสู่สังคมในอนาคต รวมทั้งเน้นการพูดคุยพบปะพัฒนาสัมพันธ์กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและความเข้าใจอันดี ซึ่งจะช่วยให้การแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงในพื้นที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป