วันพฤหัสบดี, 24 เมษายน 2568

แม่ทัพภาคที่ 4 แถลงสื่อฯ ยกระดับความปลอดภัย เพิ่มเกราะป้องกันเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

จากหลากหลายเหตุการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายน 2568 ที่ผ่านมา ได้สร้างความเสียหาย สร้างความบอบช้ำทางร่างกายและจิตใจให้กับพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ลอบยิงผู้นำศาสนาในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส รวมถึงเหตุการณ์ลอบยิงพี่น้องประชาชนในพื้นที่อำเภอแว้ง และเหตุระเบิดบริเวณแฟลตตำรวจ สถานีตำรวจภูธร โคกเคียน จังหวัดนราธิวาส และล่าสุดกับเหตุการณ์ที่สร้างความเศร้าโศกเสียใจให้กับพี่น้องประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างมาก คือเหตุการณ์ลอบยิงสามเณร ขณะเดินทางเพื่อไปออกบิณฑบาต ในพื้นที่อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา จนมรณภาพ

วันนี้ (22 เมษายน 2568) เวลา 17.00 น. ที่ห้องรับรอง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี พลโท ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้เปิดพื้นที่ให้พี่น้องสื่อมวลชนได้เข้าสัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นความรุนแรงในห้วงที่ผ่านมา

 เริ่มต้นจากกรณีลอบยิงผู้นำศาสนาในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส นายอับดุลรอนิง ลาเต๊ะ อายุ 60 ปี ซึ่งมีกลุ่มขบวนการฝ่ายตรงข้ามพยายามบิดเบือนข้อมูล ให้เข้าใจว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐนั้น แม่ทัพภาคที่ 4 ได้ยืนยันอย่างชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่รัฐมีหน้าที่ในการดูแลความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดที่นำไปสู่การละเมิดกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชน หน้าที่หลักของหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ การควบคุมพื้นที่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุความรุนแรง พร้อมทั้งดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดกับผู้กระทำผิด เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน

สำหรับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายน 2568 นั้น แม่ทัพภาคที่ 4 ระบุว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ทุกเหตุการณ์จะมีความเชื่อมโยงกัน เนื่องจากพฤติกรรมของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในแต่ละกรณี ล้วนมีเป้าหมายไปยังพี่น้องประชาชนกลุ่มเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นกรณีลอบยิงอุสตาซ เหตุระเบิดบริเวณสถานีตำรวจภูธรโคกเคียน หรือการลอบยิงสามเณรระหว่างเดินทางออกไปบิณฑบาต ซึ่งล้วนแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการสร้างความหวาดกลัวและทำลายความสันติสุขของสังคมในวงกว้าง

 โดย มาตรการดูแลความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนกลุ่มเปราะบางในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้เปิดเผยว่า กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงยังคงใช้แนวคิด “Right to Self-Determination” หรือสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองเป็นหลักในการเคลื่อนไหว โดยมีเงื่อนไขสำคัญ 4 ประการ คือ สภาพอาณานิคม, ความขัดแย้งด้วยอาวุธ, การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงและกว้างขวาง รวมถึงการแสดงอัตลักษณ์ของกลุ่ม ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกนำมาใช้เป็นเหตุผลในการสร้างความชอบธรรมต่อการกระทำของตน

 ในอดีต การก่อเหตุความรุนแรงมักมุ่งเป้าไปที่เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ถืออาวุธ เช่น ทหาร ตำรวจ หรือฝ่ายปกครอง แต่ในปัจจุบัน กลุ่มผู้ก่อเหตุได้เปลี่ยนเป้าหมายไปยังกลุ่มที่อ่อนแอกว่า เช่น ผู้นำศาสนา เด็ก และอุสตาซ รวมถึงพี่น้องชาวไทยพุทธและสามเณร ซึ่งในอดีตเคยตกเป็นเป้าหมายมาแล้ว

 สถานการณ์ในขณะนี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของฝ่ายตรงข้ามในการยกระดับการก่อเหตุ เพื่อสร้างแรงกดดันและบ่อนทำลายความสันติสุขในพื้นที่ แม่ทัพภาคที่ 4 จึงขอให้ประชาชนเข้าใจถึงกลไกของขบวนการดังกล่าว และร่วมมือกับภาครัฐในการเฝ้าระวัง และปกป้องชุมชนของตนเองอย่างใกล้ชิด

 ในส่วนของกระแสที่มองว่า เหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นอาจมีจุดประสงค์เพื่อกดดันรัฐบาลให้มีการจัดตั้งคณะเจรจาสันติสุขนั้น แม่ทัพภาคที่ 4 ระบุว่า การแต่งตั้งคณะเจรจาฯ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในพื้นที่โดยตรง แต่ยอมรับว่าที่ผ่านมา กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงมีแนวโน้มจะสร้างสถานการณ์ขึ้นมา เพื่อหวังผลในการต่อรองหรือแสดงอิทธิพลต่อกระบวนการพูดคุย

ทั้งนี้ การพูดคุยสันติสุขควรเป็นไปตามกระบวนการอย่างสงบ และจะต้องไม่มีเหตุความรุนแรงในพื้นที่เข้ามาเกี่ยวข้อง รวมถึงไม่ควรใช้ชีวิตของพี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์หรือกลุ่มเปราะบางเป็นเครื่องต่อรองในการเจรจา เพราะสิ่งเหล่านี้จะยิ่งบั่นทอนความไว้วางใจ และขัดขวางโอกาสในการสร้างสันติสุขอย่างแท้จริง

ส่วนเหตุการณ์ลอบยิงสามเณรที่อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา เป็นการสร้างสถานการณ์ที่มีการวางแผนอย่างเร่งด่วนจากกลุ่มผู้ก่อเหตุ ซึ่งพุ่งเป้าไปที่กลุ่มเปราะบาง หากไม่มีการวางแผนล่วงหน้า ก็จะไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางของกลุ่มเป้าหมาย

 ในมาตรการตอบโต้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้จัดประชุมเพื่อยกระดับการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบาง เช่น ครู พระ ผู้นำศาสนา และชุมชนไทยพุทธ พร้อมจัดตั้ง “ศูนย์บังคับการทางยุทธวิธี” ในพื้นที่เสี่ยงต่าง ๆ เช่น พื้นที่รอยต่ออำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา กับอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี, อำเภอแว้ง และอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมสถานการณ์และดูแลความปลอดภัยของประชาชน

ส่วนการปฏิบัติงานในขณะนี้นั้น เจ้าหน้าที่รัฐกำลังดำเนินการสืบสวนสอบสวนในคดีต่าง ๆ โดยรวบรวมพยานหลักฐานและบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ เพื่อจัดการกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่ถูกหล่อหลอมจากการปลูกฝังแนวคิดสุดโต่ง ซึ่งทำลายความสันติสุขในพื้นที่และความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

 ทั้งนี้ แม่ทัพภาคที่ 4 ขอให้กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงทบทวนพฤติกรรม ว่ามีสิ่งไหนอีกที่ยังไม่ได้รับ ในฐานะพลเมืองของไทย และไม่อยากให้เอาเรื่องราวในอดีตมาทำลายปัจจุบัน อยากให้ทุกคนหันหน้ามาคุยกัน และร่วมกันพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของเราต่อไป

 สุดท้ายนี้ อยากให้พี่น้องประชาชนทุกคนมั่นใจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ โดยเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนยืนยันว่าจะทำงานอย่างเต็มที่ในการรักษาความปลอดภัย สู่การสร้างสันติสุขอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป