วันเสาร์, 25 มกราคม 2568

แม่ทัพภาคที่ 4 เน้นย้ำ “สร้างความเข้าใจ ต้องเข้าใจทุกส่วน เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่แท้จริง”

วันที่ 23 มกราคม 2568 เวลา 09.10 น. ที่ โรงเรียนเสนาธิการทหารบก จังหวัดกรุงเทพมหานคร พลโท ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 พร้อมคณะฯ ให้เกียรติบรรยายในหลักสูตรการพัฒนาองค์ความรู้การก่อการร้ายและการก่อความไม่สงบ สำหรับผู้บริหาร (พรส.) เพื่อสร้างความเข้าใจแก่นักศึกษาในหลักสูตรดังกล่าว โดยเนื้อหาการบรรยายเป็นประเด็น ความเป็นมา พัฒนาการ และแนวโน้มของปัญหาในพื้นที่ กระบวนการออกแบบของกองทัพบก (ADM) กับการแก้ไขปัญหาการก่อเหตุความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่นำสู่การพัฒนาแนวทางการดำเนินการของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ภายใต้ “แผนเสริมสร้างสันติสุข”

 ในช่วงแรก แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้ให้ข้อมูลนักศึกษาที่ประกอบด้วย ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ ผู้บริหารเอกชน และสื่อมวลชน ถึงประวัติศาสตร์ และพัฒนาการของการก่อเหตุความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สำคัญ เช่น เหตุการณ์ปล้นปืน เหตุการณ์กรือเซะ ตากใบ จากประสบการณ์ส่วนตัวในฐานะที่เป็นผู้ปฏิบัติ ที่เติบโตจากการทำงานในพื้นที่ โดยระบุถึงความสำคัญของการเข้าใจแนวทางการต่อสู้ของขบวนการจากอดีตสู่ปัจจุบัน ว่าเป็นเรื่องสำคัญในการวางแผนเชิงยุทธการ และแนวทางในการพูดคุยสันติสุขที่นำไปสู่สันติได้อย่างแท้จริงในช่วงหลัง เป็นการบรรยายถึงการนำเอากระบวนการออกแบบของกองทัพบก (Army Design Methodology หรือ ADM) ซึ่งเป็นแนวคิดเชิงกระบวนการวางแผนของกองทัพสหรัฐอเมริกา มาประยุกต์ใช้ในการทบทวน จัดทำแผนเสริมสร้างสันติสุข ซึ่งเป็นแผนทิศทางการดำเนินงานการแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สิ่งสำคัญของกระบวนการนี้คือ การวางแผนที่ไม่ได้ผูกขาดอยู่ที่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงหรือฝ่ายทหารเพียงอย่างเดียว แต่คือการนำเอาส่วนงานพลเรือน ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ เข้ามามีบทบาทในการลงรายละเอียด หรือการแสวงข้อตกลงใจ (MDMP) สร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ตามเจตนารมณ์ของแม่ทัพภาคที่ 4 และการทำแนวทางการปฏิบัติในหลากหลายมิติ เช่น มิติการพัฒนา มิติการสร้างความเข้าใจ มิติการเมือง มิติทางการทหาร มิติศาสนา มิติทางกฎหมาย ฯลฯ

 จากประสบการณ์การทำงานทั้งในเชิงนโยบาย/แผน งานข่าว และการคุมกำลังในพื้นที่ ตกตะกอนสู่นโยบายในการแก้ไขปัญหาการก่อเหตุความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ประกอบด้วย 5 งานสำคัญ คือ 1) การควบคุมพื้นที่และบังคับใช้กฎหมาย 2) การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด 3) การส่งเสริมการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง 4) งานสร้างความเข้าใจ และ 5) งานบูรณาการด้านความมั่นคงและด้านการพัฒนา โดยแม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ทิ้งท้ายถึงภารกิจการบรรยายในครั้งนี้ว่า เป็นหนึ่งในงานสร้างความเข้าใจที่อยากจะให้ประชาชนไม่เฉพาะในพื้นที่ แต่นอกพื้นที่ทั่วประเทศ รับทราบถึงสภาพปัญหา และแนวทางการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหา เพราะหากปราศจากความเข้าใจของทุกภาคส่วนแล้ว ก็คงมิสามารถนำไปสู่สันติสุขได้อย่างแท้จริง