วันจันทร์, 18 พฤศจิกายน 2567

แม่ทัพน้อยที่4 รับมอบผลผลิตงานวิจัย พัฒนากลวิธีหรือมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินจากเหตุการณ์ไม่สงบสู่สังคมสันติสุขในพื้นที่ จชต. เพื่อความปลอดภัยประชาชน

วันนี้ (2 เมษายน 2567) เวลา 10.00 น. ที่ห้องรับรอง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี พลโท ปราโมทย์ พรหมอินทร์ แม่ทัพน้อยที่ 4/รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า/ผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธี ให้การต้อนรับ ผศ.ดร.สุกฤษดา รักสุจริต คณะบดีวิทยากรมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา พร้อมคณะฯ ก่อนรับมอบผลผลิตงานวิจัย ภายใต้โครงการวิจัย เรื่องพัฒนากลวิธีหรือมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินจากเหตุการณ์ไม่สงบสู่สังคมสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี ผู้บังคับบัญชาจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เข้าร่วม

พลโท ปราโมทย์ พรหมอินทร์ แม่ทัพน้อยที่ 4/รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า/ผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธี กล่าวว่า “ขอบคุณมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ที่เห็นถึงความสำคัญในการแจ้งเหตุในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผ่านมากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้ทำ MOU กับสถาบันการศึกษาที่จะใช้ผลงานทางวิชาการมาใช้ในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะฉะนั้นงานวิจัยในเรื่องของการแจ้งเหตุ ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ เดิมกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า มีช่องทางการแจ้งเหตุหลายช่องทาง แต่ก็อาจจะมีอุปสรรคอยู่บ้าง สิ่งสำคัญคือความกลัวของประชาชนในการแจ้งข่าว หรือได้รับข่าวช้า จึงทำให้ไม่ทันต่อการระงับเหตุ ซึ่งการพัฒนาแอพพลิเคชั่นในการแจ้งเหตุนี้ ก็จะเป็นอีกช่องทางที่ดีที่จะนำไปสู่การระงับการก่อเหตุได้มากขึ้น พี่น้องประชาชนในพื้นที่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมากยิ่งขึ้น“

ด้าน ผศ.ดร.สุกฤษดา รักสุจริต คณะบดีวิทยากรมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา กล่าวว่า “เหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่เกิดขึ้นมามากกว่า 20 ปี จึงเกิดแนวคิดว่าจะทำอย่างไรให้กลุ่มด่านหน้าที่อยู่ใกล้ชิดกับชุมชนมากที่สุดอย่างชุดรักษาความปลอดภัย ได้มีความกล้า และรู้กลวิธีเอาตัวรอดในเบื้องต้น ก่อนที่หน่วยงานภาครัฐเข้าไปให้การช่วยเหลือ เพื่อจะได้นำพาประชาชนในชุมชนปลอดภัย คณะวิจัยจึงได้ไปดูต้นแบบจากทุ่งยางแดงโมเดล ก่อนที่จะทำงานวิจัยครั้งนี้ ซึ่งเป็นโมเดลที่เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนและทำให้เกิดการลดลงของเหตุการณ์ตามลำดับ และนำมาปรับใช้จนออกมาเป็นผลงานวิจัยในครั้งนี้ โดยขณะนี้เป็นแอพพลิเคชั่นในระบบ Android แต่ในระยะต่อไปจะดำเนินการพัฒนาไปสู่ระบบ IOS“