วันพฤหัสบดี, 28 พฤศจิกายน 2567

แม่ทัพน้อยที่ 4 หัวหน้าฝ่ายเทคนิคในคณะพูดคุยสันติสุข หวังการพูดคุยเทคนิค ครั้งที่ 3 กับทาง BRN ช่วงปลายเดือนนี้ที่มาเลเซีย จะคืบหน้าในการหารือรายละเอียดของแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (JCPP)

จากการจัดประชุมเชิงปฎิบัติการของคณะพูดคุยฯ ที่ กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 4-5 เมษายน 2567 พลโท ปราโมทย์ พรหมอินทร์ แม่ทัพน้อยที่ 4 / รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า / หัวหน้าฝ่ายเทคนิคในคณะพูดคุยสันติสุข คาดหวังการพูดคุยเทคนิค ครั้งที่ 3 กับ ทาง BRN ช่วงปลายเดือนนี้ที่มาเลเซีย จะมีความคืบหน้าในการหารือรายละเอียดของแผนปฎิบัติการร่วมสร้างสันติสุขแบบองค์รวม หรือ JCPP หลังผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซียช่วยประสานขับเคลื่อนให้การพูดคุยเดินหน้า

พลโท ปราโมทย์ พรหมอินทร์ ได้กล่าวระหว่างการประชุมเชิงปฎิบัติการของคณะพูดคุยว่า “มีความคาดหวังในการพูดคุยปลายเดือนนี้ จะมีความคืบหน้ามากขึ้น พร้อมกล่าวถึงการพูดคุยครั้งที่ 2 ช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 7-8 มีนาคม 2567 ทางผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซีย Gen Tansri Zainal Abidin อดีต ผบ.ทบ.มาเลเซีย ได้ช่วยวางกรอบเพื่อให้แผน JCPP ของทั้งสองฝ่ายสามารถเดินหน้าต่อไปได้ คิดว่าในการพูดคุยครั้งใหม่นี้ มีความพยายามสร้างบรรยากาศให้มีความเป็นกันเองมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันมากขึ้น เราก็จะยึดแนวทางที่มีการคุยกันไว้เมื่อเดือนที่แล้ว เพื่อมาเดินหน้าจัดทำรายละเอียดให้ได้มากที่สุด”พลโท ปราโมทย์ พรหมอินทร์ ยังได้กล่าวถึงการจัดประชุมเชิงปฎิบัติเพื่อประเมินและพิจารณารายละเอียดของแผนปฎิบัติการร่วมสร้างสันติสุขแบบองค์รวม หรือ JCPP (JOINT COMPREHENSIVE PLAN TOWARDS PEACE) เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างเอกภาพทางความคิดและสร้างความเข้าใจให้ไปในทิศทางเดียวกันให้กับผู้ปฏิบัติงานในคณะพูดคุยฯ ต่อแผน JCPP ซึ่งเป็นรายละเอียดในการทำงานของทั้งสองฝ่ายในแต่ละช่วงเวลา ทั้งในเรื่องการลดความรุนแรง การปรึกษาหารือสาธารณะ และการหาทางออกจากความขัดแย้ง โดยการดำเนินการใน 3 เรื่องดังกล่าว จะมีขึ้นหลังคณะพูดคุยฯและBRN สามารถบรรลุข้อตกลงและลงนามร่วมกันในแผน JCPP ที่กำหนดรายละเอียดในการทำงานของทั้งสองฝ่ายในแต่ละช่วงเวลา ทั้งในเรื่องการลดความรุนแรง การปรึกษาหารือสาธารณะ และการหาทางออกจากความขัดแย้ง

นอกจากนี้ พลโท ปราโมทย์ พรหมอินทร์ กล่าวถึงการประชุมเป็นลักษณะของการรับฟังความเห็นจากผู้ปฏิบัติงานในคณะพูดคุยในประเด็นที่ยังมีความเข้าใจไม่ตรงกัน รวมถึงเรื่องที่ต้องไม่ทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิดในแผน JCPP ของคณะพูดคุยหลังมีข่าวที่สร้างความสับสนทั้งในเรื่องข้อเรียกร้องของ BRN ที่มีข้อเสนอให้ปล่อยตัวนักโทษที่อยู่ในเรือนจำ หรือในเรื่องของการให้ความคุ้มครองความปลอดภัยต่อสมาชิกBRN ที่จะเดินทางเข้ามาร่วมทำกิจกรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หากมีการลงนามใน JCPP โดย พลโท ปราโมทย์ พรหมอินทร์ ได้ชี้แจงว่ายังไม่มีข้อตกลงใด ๆ ในเรื่องดังกล่าว ซึ่งขึ้นอยู่กับการหารือด้านเทคนิคในรายละเอียดจากทั้งสองฝ่าย”ในการประชุมเราได้มาทบทวนร่วมกันมีประเด็นไหนบ้างที่ต้องมาลงรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อป้องกันไม่ให้สังคมเกิดความสับสน เช่นในเรื่องการให้ความคุ้มครองความปลอดภัย (ต่อสมาชิก BRN ที่จะเดินทางเข้ามาในจังหวัดชายแดนภาคใต้) และในเรื่องของการปรึกษาหารือสาธารณะ โดยในเรื่องการคุ้มครองความปลอดภัย ต้องมีการลงรายละเอียดเพิ่มเติมให้สังคมได้เข้าใจว่าในการคุ้มครองนั้น จะคุ้มครองเป็นรายกรณี เฉพาะบุคคลที่จะต้องมาเกี่ยวข้องกับการพูดคุยเพื่อสันติสุขในพื้นที่ของประเทศไทย”พลโท ปราโมทย์ พรหมอินทร์ ได้ชี้แจงเพิ่มเติมในเรื่องของการปรึกษาหรือสาธารณะ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 สารัตถะสำคัญในแผน JCPP ต้องมีการออกแบบรูปแบบของเวทีสาธารณะในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ กำหนดรายละเอียดของการมาเปิดเวทีว่า ในเวทีแบบปิดจะมีเวทีลักษณะไหน เวทีแบบเปิดจะมีลักษณะอย่างไร เป็นการคิดกรอบไว้ล่วงหน้า เพื่อใช้ในการพูดคุยโดยการประชุมครั้งนี้ นายฉัตรชัย บางชวด หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการประชุมเชิงปฎิบัติการตลอดทั้ง 2 วัน ซึ่งในที่ประชุมได้มีการปรับแก้ถ้อยคำใน JCPP ในส่วนที่อาจสร้างความสับสน ให้มีรายละเอียดรัดกุม รอบคอบ ในส่วนรายละเอียดทั้งหมด พลโท ปราโมทย์ พรหมอินทร์ และคณะทำงานฝ่ายเทคนิค จะนำไปพูดคุยกับ BRN ซึ่งจะมีการหารือกันครั้งที่ 3 ช่วงปลายเดือนนี้ ระหว่างวันที่ 28-30 เมษายน 2567 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย “JCPP เป็นเพียงแค่เอกสารที่ใช้เป็นกรอบเป็นแนวทางที่จะนำมาใช้ในการพูดคุย ประเด็นหัวข้อที่ปรากฎอยู่ในร่าง JCPP เป็นเพียงหัวข้อที่เขียนขึ้นมาเป็นตุ๊กตา แต่ยังไม่นำไปสู่การปฎิบัติ เพราะฉะนั้น เอกสาร JCPP ไม่ถือว่าเป็นเอกสารที่มีผลผูกพันใด ๆ ทางกฎหมาย เป็นเพียงแค่แนวทางที่เราจะนำมาใช้ ในการพูดคุยกับฝ่าย BRN” พล.ท.ปราโมทย์ ชี้แจงในอีกตอนหนึ่งต่อความเข้าใจผิด ๆ ที่เกิดขึ้นมีข้อกังวลการพูดคุยสันติสุขกับ BRN จะเป็นเหตุไปสู่การสูญเสียอธิปไตย พร้อมย้ำการพูดคุยสันติสุขกับ BRN เป็นการพูดคุยภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญของไทย ทั้งนี้ พลโท ปราโมทย์ พรหมอินทร์ ยังได้ตั้งข้อสังเกตถึงเหตุความรุนแรงในช่วงรอมฎอนปีนี้ ยังมีการก่อเหตุร้ายอย่างต่อเนื่องจากกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ “ช่วงรอมฎอนกว่า 20 วัน ที่ผ่านมาพบว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุความรุนแรงยังมีความพยายามที่จะก่อเหตุ โดยเฉพาะการก่อเหตุพร้อมกันหลายจุดเมื่อ 22 มีนาคม ที่ผ่านมา ล่าสุดก็มีการลอบยิง อส.ทพ.หญิง เสียชีวิต เป็นตัวบ่งชี้บอกถึงความพยายามก่อเหตุในช่วงรอมฎอนของขบวนการ ซึ่งนโยบายของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ทาง พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ก็ได้มีการกำหนดมาตรการดูแลพื้นที่ให้มีความปลอดภัยสูงสุด ในขณะเดียวกันก็ต้องมีการอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนด้วย”พลโท ปราโมทย์ พรหมอินทร์ กล่าวถึงข้อสั่งการของ พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 /ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ในการเพิ่มความเข้มข้นและเข้มงวดมากขึ้น โดยประสานและบูรณาการในการทำงานกับทุกฝ่าย ในช่วง 10 วันสุดท้าย ของเดือนรอมฎอน ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญ “ในทุกปีที่ผ่านมามีความพยายามก่อเหตุร้าย โดยอาศัยเวลาในช่วงนี้ก่อเหตุกับเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น เพราะฉะนั้นเรื่องของมาตรการในการป้องกันการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เพื่อป้องกันการถูกเข้าโจมตี ทางกองทัพภาคที่ 4 ให้ความสำคัญในการวางระบบดูแลความปลอดภัยให้พี่น้องประชาชนและในช่วงหลังรอมฎอน ก็จะเข้าสู่ช่วงเฉลิมฉลองเทศกาลฮารีรายอ ต่อเนื่องด้วยเทศกาลวันสงกรานต์ ทางกองทัพภาคที่ 4 มีทั้งแผนในเรื่องการรักษาความปลอดภัยและแผนในการจัดกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้”