วันศุกร์, 10 มกราคม 2568

“เดชอิศม์” เสนอขุดลอกทะเลสาบสงขลา สร้างเส้นเลือดใหญ่-เส้นเลือดฝอย พร้อมเชิญผู้มีส่วนได้เสียร่วมเจรจา อย่าหักด้ามพร้าด้วยเข่า เพราะถ้าไม่มีชุมชน ไม่มีท้องถิ่น เราก็ไม่มีประเทศ

วันที่ 7 มี.ค. 2567นายเดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ สส.จังหวัดสงขลา ได้อภิปรายเห็นด้วยกับการรายงานผลการพิจารณาศึกษาเรื่องญัตติพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาและลุ่มน้ำทะเลสาบอื่นๆ อย่างยั่งยืน ที่เสนอญัตติดังกล่าวโดย นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ สส. จังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมกับให้ข้อสังเกต และข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาและพัฒนาทะเลสาบสงขลาเพิ่มเติมว่า

รัฐบาลจำเป็นจะต้องมองอย่างละเอียดตั้งแต่น้ำทุกหยด แม่น้ำลำคลองทุกสายที่ไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลา โดยมองตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ เป็นทะเลสาบสงขลา ในอดีตทุกแม่น้ำลำคลองที่ไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลาเป็นน้ำสะอาดสามารถใช้ดื่มกินได้ แต่มาวันนี้ทะเลสาบสงขลา ได้รับผลกระทบจากปัญหาโรงงานอุตสาหกรรมปล่อยน้ำเสีย ปัญหาจากการลักลอบดูดทราย ส่งผลให้พี่น้องประชาชนเป็นโรคมะเร็ง และเสียชีวิตมากขึ้น สัตว์น้ำตายและลดจำนวนลง บางชนิดสูญพันธุ์ ทะเลสาบสงขลาตื้นเขินขึ้น นอกจากนี้ยังส่งผลให้จังหวัดที่อยู่รอบทะเลสาบสงขลา อาทิ นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา เกิดน้ำท่วมบ่อยขึ้นและเร็วมากขึ้น ดังนั้นจึงถึงเวลาจะต้องทวงคืนเอกราชทางสิ่งแวดล้อมให้กับพี่น้องลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และพี่น้องคนไทยทุกคน

ดังนั้นจึงได้เสนอ 3 ทางออก ดังต่อไปนี้

  1. ต้องปรับปรุงกฎหมายโดยเพิ่มบทลงโทษกับผู้ปล่อยน้ำเสีย จากการที่โรงงานอุตสาหกรรมสร้างความเสียหายให้กับท้องถิ่นให้กับสิ่งแวดล้อม ไม่ต่ำกว่าครั้งละ 10 ล้านบาท แต่อุตสาหกรรมจังหวัดปรับ 200,000 บาท ไม่คุ้มค่ากับความเสียหายที่เกิดขึ้น จึงเสนอให้ปรับอย่างน้อย 10 ล้านบาท และมีโทษทางอาญาด้วย
  2. ต้องสร้างจิตสำนึกให้กับเจ้าของโรงงานและพี่น้องประชาชนที่อยู่ใกล้แม่น้ำลำคลอง อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อส่งมอบสิ่งแวดล้อมดีๆ ให้กับลูกหลานและรุ่นต่อๆไป
  3. เสนอให้รัฐบาลขุดลอกร่องน้ำที่บริเวณกลางทะเลสาบสงขลา ตั้งแต่หัวพญานาค อำเภอเมือง ไปจนถึงทะเลน้อยที่จังหวัดพัทลุง ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร กว้าง 120 เมตร ลึก 4 เมตร เพื่อให้เป็นเส้นเลือดใหญ่แห่งทะเลสาบสงขลา จากนั้นให้ขุดร่องน้ำขนาดเล็กเชื่อมกับคลอง และแม่น้ำต่างๆ ที่ไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลาเพื่อเป็นเส้นเลือดฝอย สิ่งนี้จะทำให้เกิดประโยชน์อย่างน้อย 3 อย่าง 1. สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมใน 3 จังหวัดที่อยู่ติดทะเลสาบสงขลา 2. จัดทำพื้นที่เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำทุก 3 เดือนจะทำให้ทะเลสาบสงขลาจะกลับมาอุดมสมบูรณ์ได้อีกครั้ง 3. ส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สร้างมูลค่าการท่องเที่ยวได้กว่าแสนล้านบาท

“ทุกการเปลี่ยนแปลงย่อมมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ย่อมมีผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบ แต่เราจะทำอย่างไรให้เกิดผลบวกมากที่สุด หรือเกิดผลลบ เกิดผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด” นายเดชอิศม์ กล่าว

พร้อมกับเพิ่มเติมว่า ด้วยเหตุนี้เราจำเป็นต้องต้องเชิญกลุ่มต่างๆ ที่มีส่วนได้เสียในทะเลสาบสงขลามาร่วมเจรจาปรึกษาหารือหาทางออกร่วมกัน อย่าหักด้ามพร้าด้วยเข่า เพราะทุกคนคือคนไทย ทุกคนต้องเลี้ยงครอบครัว ตนมั่นใจว่าชุมชนท้องถิ่นเป็นรากฐานที่สำคัญของประเทศ ถ้าเราไม่มีชุมชน ไม่มีท้องถิ่น เราก็ไม่มีประเทศ ถ้าเราทำได้ ทะเลสาบสงขลาต้องกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง และจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของโลกอย่างแน่นอน