วันที่ 8 กรกฎาคม 2567 ณ ห้องน้ำพราว โรงแรมซีเอส ปัตตานี จังหวัดปัตตานี หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างและสามจังหวัดชายแดนใต้ จัดงานสัมมนา “พหุภาคีในพื้นที่จังหวัดภาคใต้แก้ไขปัญหาความยากจนแบบบูรณาการ ภายใต้หัวข้อ “โหม๋ภาคีพร้อมพรั่ง เพิ่มพลังแก้จน … ปรับปรนผลงาน ความรู้ เทคโนโลยีพร้อมใช้ โยงใยสู่ชุมชนนักปฏิบัติ” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่อย่างแท้จริง โดยมี แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดการสัมมนา ผศ.ดร.อรุณีวรรณ บัวเนี่ยวรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) กล่าวรายงาน ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) บรรยายพิเศษเรื่องปลุกพลัง “ชุมชนนักปฏิบัติ กับนวัตกรรม และเทคโนโลยีพร้อมใช้งาน”
และโอกาสนี้ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ”เรื่องการขับเคลื่อนข้อมูลเพื่อการตัดสินใจพัฒนาพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจนและยกระดับฐานะทางสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้“ โดยมีหน่วยงานที่ร่วมลงนามประกอบด้วย ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้, ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี,มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา,มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูล และร่วมกันบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ (DSS)พื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจนและยกระดับฐานะทางสังคมในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นการเปิดมิติใหม่สลายความรุนแรงชายแดนใต้ด้วยพลังความรู้สร้างอาชีพ
แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้กล่าวสะท้อนความเห็นต่อผลงาน ความรู้ และเทคโนโลยีพร้อมใช้กับชุมชนนักปฏิบัติ ว่า ที่ผ่านมาได้ติดตามการกระบวนการดำเนินงานและผลงานจากโครงการวิจัยแก้ไขปัญหาความยากจน ทั้ง 6 มหาวิทยาลัย ได้รับการสนับสนุนจากหน่วย บริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)มาอย่างต่อเนื่อง เห็นบทบาทสำคัญของมหาวิทยาลัยในการขับเคลื่อน การนำองค์ความรู้ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ (อววน.) สู่การพัฒนาพื้นที่นับว่าเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของงาน นั่นคือ การใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาหนุนเสริมงานแก้ไขปัญหาความยากจนที่ปรากฏผลอย่างเป็นรูปธรรม ดังตัวอย่างผลงานกว่า 100 โมเดลแก้จนและเทคโนโลยีพร้อมใช้ทุกสถาบันการศึกษา ที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ทั้งนี้ รัฐมนตรี มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นกระทรวงเศรษฐกิจ สามารถสร้างรายได้ให้กับประชาชนและประเทศ โดยใช้ความรู้และนวัตกรรมที่มี เป็นความหวัง เป็นที่พึ่งให้ประชาชนในการพัฒนาเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาสำคัญ ซึ่งตรงกับเป้าหมายการดำเนินงานของโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน ทั้ง 6 มหาวิทยาลัยกำลังดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ที่เรามักพูดถึงสันติภาพที่กินได้ นั่นคือ การดูแลพี่น้องประชาชนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี สามารถพึ่งพาตนเองได้ก็เป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยสร้างสันติภาพในพื้นที่
ผศ.ดร.อรุณีวรรณ บัวเนี่ยว รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม วิทยาเขตปัตตานี(ม.อ.ปัตตานี) กล่าวว่า การสัมมนาในครั้งนี้เกิดขึ้นจากข้อตกลงร่วมกันของมหาวิทยาลัยที่ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยการสนับสนุนทุนวิจัยอย่างต่อเนื่องจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนา ระดับพื้นที่ หรือ (บพท.) เครือข่ายมหาวิทยาลัยในพื้นที่ภาคใต้และภาคใต้ตอนล่างได้ตกลงกันว่าจะมีการประชุมเพื่อพัฒนาเครือข่าย ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสนับสนุนซึ่งกันและกัน การจัดงานครั้งนี้ มุ่งเสนอให้เป็นการบูรณาการงานโครงการที่ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)สนับสนุนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเกิดเป็นการจัดงานความร่วมมือเครือข่ายสถาบันวิชาการภาคใต้ ทั้งในกลุ่มโครงการพื้นที่ยุทธศาสตร์แก้ปัญหาความยากจนหรือที่เราเรียกกันว่า SRA Strategic Research Area กลุ่มโครงการเทคโนโลยีพร้อมใช้ หรือ App tech โครงการนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาพื้นที่ และโครงการคลัสเตอร์ นอกจากนั้น ยังมีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มาร่วมเป็นเครือข่าย และจัดแสดงผลงาน โดยมีบูธนิทรรศการ โมเดลแก้จนและเทคโนโลยีพร้อมใช้กว่า 100 บูธ นับว่าเป็นผลลัพธ์สำคัญ นอกจากนั้นยังมีตัวแทนชุมชน ตัวแทนผู้ประกอบการและนักวิจัยมาร่วมให้ข้อมูลที่บูธ ล้วนเกิดจากการวิเคราะห์ปัญหาร่วมกันและออกแบบเครื่องมือที่สามารถแก้ปัญหาและช่วยให้ครัวเรือน กลุ่ม และชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สะท้อนเป้าหมายหลักของงานแก้จน คือ poor 2power คือ การเสริมพลังให้ครัวเรือนเป้าหมายสามารถสร้างรายได้และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ด้วยพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วน รวมถึงก่อให้เกิดผลต่อการพัฒนาความรู้ ที่ผสมผสานความรู้วิชาการและภูมิปัญญาท้องถิ่น และส่งผลต่อการพัฒนาบทบาทสถาบันวิชาการที่จะเป็นกลไกเสริมพลังความร่วมมือในการยกระดับคุณภาพชีวิต ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก เสริมสร้างโอกาสทางการศึกษา และยกระดับการพัฒนา ทักษะฝีมือที่ตอบโจทย์ความต้องการในระดับพื้นที่อย่างแท้จริง