อาจารย์และนักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช มรภ.สงขลา ศึกษาดูงานแปลงปลูกส้มโอควนลัง “สวนลุงทิน” เรียนรู้พืชอัตลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หวังพัฒนาทักษะทางวิชาการควบคู่ฝึกปฏิบัติทางวิชาชีพ สร้างแรงบันดาลใจสู่การเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ
เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 ผศ.ดร.ศุภัครชา อภิรติกร ประธานกรรมการบริหารหลักสูตร ทล.บ. สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) นำนักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช บูรณาการในรายวิชาการผลิตไม้ผล ศึกษาดูงานเชิงปฏิบัติการสวนลุงทิน สวนต้นแบบส้มโอของดี จ.สงขลา โดยได้รับเกียรติจาก นายสุทิน สุวรรณมาลาประธานกลุ่มส้มโอควนลัง เจ้าของสวนลุงทิน และได้รับเกียรติจาก นางซารีหนาม สุราฤทธิ์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชน และทีมงานเทศบาลเมืองควนลัง ร่วมต้อนรับและพูดคุยถึงความเป็นมาของส้มโอควนลังที่แสนอร่อย หอม หวาน ไร้เมล็ด มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น
นายสุทิน สุวรรณมาลา เล่าว่า ส้มโอควนลังเป็นสินค้าที่มีสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ชนิดแรกของ จ.สงขลา เนื่องจากผลมีลักษณะทรงผลกลม ไม่มีจุก มีขนาดใหญ่ เนื้อมีชมพูเข้มถึงแดง ปลายกุ้งเรียวแหลม เนื้อนิ่ม ฉ่ำน้ำ รสชาติหวานอมเปรี้ยว ความหวานอยู่ที่ประมาณ 12 องศาบริกซ์ และจุดเด่นคือไม่มีเมล็ด ดังนั้น วิธีการขยายพันธุ์จึงมีวิธีการเดียวก็คือการตอนกิ่ง ต้นที่ได้จึงมีความสม่ำเสมอ ลุงทินยังเล่าให้ฟังอีกว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เพิ่งมีการจัดงานใหญ่ เที่ยว ชิม ช้อป ส้มโอหอมควนลัง ของดีเทศบาลเมืองควนลัง ซึ่งน่าจะจัดขึ้นทุกปี
นางซารีหนาม สุราฤทธิ์ กล่าวเสริมว่า กลุ่มงานพัฒนาชุมชน เทศบาลเมืองควนลัง พยายามผลักดันและสร้างแรงจูงใจให้กลุ่มเกษตรกรหันมาขยายพื้นที่ปลูกส้มโอเพิ่มมากขึ้น เมื่อก่อนส้มโอราคาถูกลูกละเพียงไม่กี่บาท แต่ด้วยความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะสายพันธุ์จึงทำให้ขึ้นชื่อจนสามารถที่จะจดเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ได้ ซึ่งปัจจุบันมีกลุ่มเกษตรกรที่สนใจเพิ่มขึ้น สามารถรวมกลุ่มกันได้จนแปลงใหญ่ขึ้นและจะร่วมกันอนุรักษ์ พัฒนา และส่งเสริมกันต่อไป
ด้าน นายกฤษฎวัลย์ เพ็ชรจำรัส นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช กล่าวว่า รู้สึกประทับใจมาก ตนได้เรียนรู้และขอลองตอนกิ่งส้มโอ ซึ่งลุงทินก็ให้ลองทำ เป็นการขยายพันธุ์พืชที่ทำได้ง่าย ลุงสอนเทคนิคในการที่จะตอนกิ่งให้ประสบความสำเร็จ นอกจากนั้น ในสวนของลุงยังมีส้มจี๊ด และสวนตรงข้าม ซึ่งเป็นของ นางสุพัตรา เบ็ญหีม เจ้าของ“บ้านหอมพร้าว” ผักอินทรีย์ ปลูกเองด้วยความใส่ใจ ตนมองว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดีให้กับชุมชนและเกษตรกรผู้สนใจปลูก สามารถที่จะเข้ามาสอบถามและเรียนรู้ได้