อส. หรือ กองอาสารักษาดินแดน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ปัญชาการกองอาสารักษาดินแดน มีข้าราชการสังกัดกรมการปกครองเป็นผู้บังคับหน่วย และมีกำลังพลระดับปฏิบัติการ ได้แก่ “สมาชิกอส.” ซึ่งมีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีชั้นยศ มีสิทธิประโยชน์ ค่าตอบแทนและสวัสดิการต่าง ๆตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย สมาชิก อส. มี 3 ประเภท ได้แก่
1. ประเภทสำรอง คือ สมาชิกที่ยังไม่ได้เข้ารับการฝึกหัด และอบรม
2. ประเภทประจำกอง คือ สมาชิกที่ได้รับการฝึกหัดและอบรม บรรจุอยู่ในอัตรากำลัง
3. ประเภทกองหนุน คือ สมาชิกที่ได้ปลดออกจากประจำกองแล้ว ปัจจุบันมีสมาชิก อส. มากกว่า 26,000 นาย ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ รวม 971 กองร้อย
ในภาวะไม่ปกติหรือยามสงคราม สมาชิก อส.จะมีหน้าที่สนับสนุนกำลังรบหลัก ปฏิบัติภารกิจพิทักษ์พื้นที่เขตหลังในฐานะกำลังสำรองประเภทกำลังกึ่งทหาร แต่ในภาวะปกติจะทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม และความมั่นคงของชาติร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครอง โดยในอดีตตั้งแต่ปี 2508 ถึงปี 2522 สมาชิก อส. มีบทบาทสำคัญในการร่วมปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ แต่ต่อมาเมื่อสถานการณ์ การก่อการร้ายของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์สิ้นสุดลง และไม่มีสงครามจากภายนอกประเทศ “สมาชิก อส.” ทำหน้าที่เป็นกองกำลังประจำถิ่นเพื่อช่วยเหลือ และสนับสนุนการทำงานระหว่างพนักงานฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตามภารกิจที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะการบำบัดทุกข์บำรุงสุข ให้แก่ประชาชน เช่น การป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย การป้องกันปราบปราม และการบำบัดรักษาผู้เสพยาเสพติด การปราบปรามการค้ามนุษย์ การป้องกัน และปราบปรามการตัดไม้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นต้น
“สมาชิก อส.” มีข้อได้เปรียบ และมีความแตกต่างจากทหารหรือตำรวจ คือ สมาชิก อส. มีความใกล้ชิดกับประชาชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากสมาชิก อส. เองเป็นประชาชนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่นั้นๆ ทำให้มีความเข้าใจในพื้นที่ และสถานการณ์ในพื้นที่เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการรับรู้ข้อมูลข่าวสารใน พื้นที่นั้นสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว และสามารถนำข้อมูลเสนอผู้บังคับบัญชา เพื่อตัดสินใจแก้ไข ปัญหาในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมาชิก อส. จึงเป็นกำลังสำคัญในการรักษาความสงบสุขของ พี่น้องประชาชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน