
วันนี้ (30 ส.ค. 67) ที่อาคารห้องประชุมนิวซีซัน ห้องดุสิตา ชั้น 8 (เฟส 3) โรงแรมนิวซีซันสแควร์หาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นางฐิตารีย์ เชื้อพราหมณ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ รักษาการผู้อำนวยการกองสาธารณสุข องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา กล่าวต้อนรับ นางสาวปรินดา ปาลาเร่ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ประธานในพิธีเปิดโครงการรณรงค์สร้างเสริมสุขภาพทุกช่วงวัยแบบบูรณาการ ปีงบประมาณ 2567 (กิจกรรม “งานสมัชชาพลเมืองสงขลา”) โดยมี เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคการศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสงขลา ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 200 คนเข้าร่วม เพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์กิจกรรมด้านการสร้างเสริมสุขภาพ และให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความรู้เกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาวะและส่งเสริมสุขภาพ สามารถนำความรู้ประยุกต์ใช้กับประชาชนในชุมชนได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งสร้างภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาพในจังหวัดสงขลาแบบบูรณาการ โดยมีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำเสนอผลงานด้านวิชาการ ในหัวข้อ “เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สิ่งแวดล้อมยั่งยืน สังคมเป็นสุข” และสร้างพลังพลเมืองสงขลาเป็นต้นแบบชุมชนสุขภาวะ และพัฒนานโยบายสาธารณะระดับจังหวัด

นางสาวปรินดา ปาลาเร่ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา กล่าวว่า การมีสุขภาพที่ดีเป็นสิ่งที่ทุกคนต่างก็พึงปรารถนาที่จะมี เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะนำความสงบสุขให้กับชีวิต องค์การอนามัยโลกได้ให้คำนิยามคำว่า “สุขภาพ” คือ สุขภาวะที่สมบูรณ์ทางด้านร่างกาย (Physical) จิตใจ จิตวิญญาณ และสังคม มิเพียงแต่ปราศจากโรคและความพิการเท่านั้น ดังนั้น “สุขภาพ” จึงหมายถึงการมีร่างกายแข็งแรงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บในทุกส่วนของร่างกาย มีสุขภาพจิตดี และสามารถปรับตัวให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างปกติสุข
“การสร้างเสริมสุขภาพจึงเป็นกลวิธีหนึ่งในการส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟู ซึ่งต้องทำให้ครอบคลุม 4 ด้าน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ ด้วยวิธีการที่ถูกต้อง และเหมาะสมต่อสภาพร่างกายของคนแต่ละกลุ่มวัย โดยองค์ประกอบของการสร้างเสริมสุขภาพหลายด้าน เช่น การออกกำลังกาย โภชนาการ พฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ การป้องกันและควบคุมโรค รวมไปถึงการจัดระบบอนามัยสิ่งแวดล้อมชุมชนให้เหมาะสมกับสุขภาพของประชาชน และจัดกิจกรรมส่งเสริมให้ประชาชนห่างไกลจากยาเสพติด”

ทั้งนี้ ปัจจัยแห่งความสำเร็จสำคัญที่ทำให้การสร้างเสริมสุขภาพที่ดี ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันเป็นการมีส่วนร่วมของหน่วยงานเอกชนและประชาชน รวมไปถึงการปรับรูปแบบการทำงานบนฐานของเครือข่ายที่มากยิ่งขึ้นสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพ ส่งเสริมการพัฒนาสุขภาวะของประชาชนทุกวัย โดยเน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจ การสนับสนุนกิจกรรมรณรงค์เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะและสร้างเครือข่ายภาคประชาชน

ภายในงานประกอบด้วย การนำเสนอผลการดำเนินงานประจำปี 2567 ขององค์กรภาคีความร่วมมือด้านสังคมเป็นสุข นำโดย นางสาวรุจิรา ไชยเจริญ กองสาธารณสุของค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา การปาฐกถาพิเศษ “อนาคตระบบสุขภาพของท้องถิ่นไทย” โดย นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ การเสวนา “หุ้นส่วนทางสังคมร่วมสร้างสังคมสุขภาวะ ความสุขเริ่มที่บ้าน : เติมสุขโมเดล” นำโดย นางฐิตารีย์ เชื้อพราหมณ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ รักษาการผู้อำนวยการกองสาธารณสุข องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา นำเสนอผลงานประจำปี 2567 ของภาคีความร่วมมือด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นำโดย นายกิตธนา สุบรรพวงศ์ สมาคมสมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา และการนำเสนอผลการดำเนินงานประจำปี 2567 ของภาคีความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมยั่งยืน