อบจ.สงขลา ร่วมรับมอบนโยบาย-ลงนาม MOU พร้อมขับเคลื่อนโครงการ “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา

วันนี้ (29 ก.พ. 67) ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา มอบหมายให้ นางสุรียพรรณ์ ณ สงขลา ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการวางแผนยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เข้าร่วมประชุมรับมอบนโยบายและร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การขับเคลื่อนโครงการ “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา โดยมีนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดวงขลา กล่าวต้อนรับ โอกาสนี้ นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง ส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้แทนภาคีเครือข่ายเข้าร่วมและเป็นสักขีพยานการลงนาม

กระทรวงมหาดไทย ได้จัดทำโครงการ “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา ในปี พ.ศ.2567 โดยขยายผลการดำเนินงานโครงการ “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน/ชุมชน ในส่วนของจังหวัดสงขลามีเป้าหมายการขับเคลื่อนหมู่บ้าน/ชุมชนยั่งยืน จำนวน 1,327 หมู่บ้าน/ชุมชน และปัจจุบันจังหวัดสงขลาได้ดำเนินการขับเคลื่อนหมู่บ้านยั่งยืนแล้ว จำนวน 127 หมู่บ้าน คงเหลือหมู่บ้าน/ชุมชนที่ต้องขับเคลื่อน จำนวน 1,200 หมู่บ้าน/ชุมชน โดยการขับเคลื่อนร่วมกับ 7 ภาคีเครือข่าย ได้แก่ ภาครัฐ ภาคศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคสื่อมวลชน และภาคประชาชน ในการบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อให้ “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยได้แจ้งให้ทุกอำเภอแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกฯ เพื่อคัดเลือกหมู่บ้านยั่งยืนต้นแบบ อำเภอละ 1 หมู่บ้าน เพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นตัวแทนของจังหวัดสงขลา โดยคณะกรรมการคัดเลือกระดับจังหวัด จะลงพื้นที่เพื่อตรวจติดตามและคัดเลือกต่อไป

ในปี 2567 ซึ่งเป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ 72 พรรษา กระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอทั่วประเทศ ยกระดับแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนด้วยการขับเคลื่อน “โครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ให้ครบทั้ง 75,086 หมู่บ้านทั่วประเทศ ภายในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ด้วยการต่อยอดแนวทางการพัฒนาหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ซึ่งได้รับการขับเคลื่อนในปีที่ผ่านมา โดยจัดทำตัวชี้วัดความสำเร็จ (KPIs) ของหมู่บ้านยั่งยืน จำนวน 8 ตัว ชี้วัด ได้แก่ 1.ด้านที่อยู่อาศัย 2.ด้านความมั่นคงทางอาหาร 3.ด้านความสะอาด 4.ด้านความสามัคคี 5.ด้านความร่วมมือ 6.ด้านการปฏิบัติตามหลักศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม และการแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ 7.ด้านความมั่นคงปลอดภัย และ 8.ด้านการมีน้ำสะอาดสำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภค