อบจ.สงขลา ร่วมขับเคลื่อน “พิธีรับเทียมดา” มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมท้องถิ่นของจังหวัดสงขลา

วันนี้ (14 เม.ย. 68) นายอำนวย พิณสุวรรณ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เข้าร่วมงานพิธีรับเทียมดา เมืองสงขลา ปี 2568 พร้อมด้วย นางสาวอุฬาริกา กองพรหม ผู้อำนวยการสวนสัตว์สงขลา นายนราเดช คำทัปน์ นายกเทศมนตรีเมืองเขารูปช้าง คณะผู้บริหาร ผู้แทนสภาวัฒนธรรม และพี่น้องประชาชนในพื้นที่เข้าร่วม โดยมี นายจิรวัตร์ มณีโชติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธาน ณ แหล่งเรียนรู้ลานวัฒนธรรมบ่อศรีหนุ้ย หมู่ที่ 6 ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา

โอกาสนี้ นายอำนวย พิณสุวรรณ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ได้กล่าวพบปะก่อนปักธงชัยเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในพิธีเปิดว่า
“การส่งเสริมศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม รวมถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็น 1 ในนโยบาย 9 ด้านสำคัญขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ที่นำโดย นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ซึ่งให้ความสำคัญและได้แถลงต่อสภาฯ เมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา ประกอบกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้ประกาศให้พิธีรับเทียมดา เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศไทย และเป็นที่เดียวในจังหวัดสงขลา”

องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ร่วมกับสถาบันพัฒนาความคิดเพื่อชีวิตและสังคม กำหนดจัดประเพณีรับเทียมดา ปี 2568 ขึ้น ในวันที่ 14 เมษายน 2568 เพื่อเป็นการแสดงถึงความกตัญญูต่อเทวดาที่ปกป้องรักษาให้อยู่เย็นเป็นสุขในรอบหนึ่งปี เพื่อทำพิธีไหว้รับเทียมดา หรือรับเทวดาองค์ใหม่ที่จะคุ้มครองให้มีชีวิตที่ดี ให้ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข อีกทั้ง เพื่อความเป็นสิริมงคลให้กับตนเองและครอบครัว และเป็นการสร้างความรักความสามัคคีในหมู่คณะ พร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนท้องถิ่น

ประเพณีรับเทวดาหรือรับเทียมดา เป็นประเพณีอย่างหนึ่งของชาวไทยพุทธในเขตชนบทภาคใต้ ปัจจุบันยังคงทำกันอยู่ในบางพื้นที่บางจังหวัด เช่น จังหวัดสงขลา ปัตตานี นครศรีธรรมราช เป็นต้น ทั้งนี้ หลายชุมชนที่จัดประเพณีนี้อยู่นั้นเป็นการรื้อฟื้นประเพณีเดิมขึ้นมาจัดใหม่หลังจากที่ขาดการสืบทอดไปนานหลายสิบปี อย่างไรก็ดีในชุมชนชาวสยามในรัฐเกดะห์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเมื่อหลายร้อยปีก่อนบรรพบุรุษได้เดินทางอพยพย้ายถิ่นฐานจากภาคใต้ ไปตั้งรกรากอยู่ในเมืองไทรบุรีเดิมหรือรัฐเกดะห์ในปัจจุบัน ยังคงสืบทอดวัฒนธรรมความเชื่อประเพณีต่าง ๆ ของชาวใต้ไว้อย่างเหนียวแน่น รวมทั้งยังคงสืบทอดประเพณีรับเทวดา หรือประเพณีขึ้นปีใหม่ของชาวใต้ในอดีตไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์