วันเสาร์, 28 ธันวาคม 2567

อบจ.สงขลา จับมือภาคีเครือข่าย จัดงาน “มหกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่การพัฒนาระบบบริการฟื้นฟูสมรรถภาพ และกายอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการจังหวัดสงขลา ปีที่ 2 “Exchange for a better quality of life”

วันนี้ (15 ส.ค. 67) ที่หาดใหญ่ ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าเซ็นทรัล หาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นางฐิตารีย์ เชื้อพราหมณ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองสาธารณสุข องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ให้การต้อนรับและกล่าวรายงานแก่ นายอับดลรอหมาน กาเหย็ม รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ประธานเปิดโครงการมหกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่การพัฒนาระบบบริการฟื้นฟูสมรรถภาพ และกายอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการจังหวัดสงขลา ปีที่ 2 “Exchange for a better quality of life” โดยมีคณะผู้บริหารองค์การบริหาร ตลอดจนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา นายชัยยุทธ หลักเมือง ผู้อำนวยการกลุ่มจังหวัด สปสช.เขต 12 สงขลา และคุณธนชาติ พงษ์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์การค้าเซ็นทรัล หาดใหญ่ ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิด

ด้วยในปี พ.ศ.2558 องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา สมทบงบประมาณกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จัดตั้งกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดสงขลา เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ อุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ ตลอดจนปรับสภาพแวดล้อมและที่อยู่อาศัยให้เอื้อกับสภาพหรือข้อจำกัดด้านร่างกายให้กับคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยในระยะกึ่งเฉียบพลัน และผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง ให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาก่อเกิดนวัตกรรมด้านการเสริมสร้างความร่วมมือภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมในพื้นที่หลากหลายโครงการ อาทิ นวัตกรรมกรรมศูนย์ซ่อมสร้างสุขชุมชน , นวัตกรรมศูนย์สร้างสุขชุมชน , นวัตกรรมบ้านสร้างสุขชุมชน , นวัตกรรมที่นอนลมจากถุงนำยาล้างไต และนวัตกรรมน้องอ้อมปันสุข ฯลฯ

การจัดงานในครั้งนี้ ถือเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการและประสบการณ์การทำงานแสดงผลงานที่เป็น Best practice ของการพัฒนาระบบบริการฯ ของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน การเชิดชูเกียรติเครือข่ายการพัฒนาระบบบริการด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคมในจังหวัดสงขลา

สำหรับ “กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดสงขลา” ภายใต้การบริหารจัดการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เป็นต้นแบบกองทุนในระบบหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น ที่สร้างสรรค์นวัตกรรมสร้างสุขชุมชนช่วยเติมเต็มคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึงบริการที่มีมาตรฐานได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม อย่างยั่งยืน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ภายใต้แนวคิด “รวมพลัง ร่วมสร้างสุข”