วันอังคาร, 24 ธันวาคม 2567

อบจ.สงขลา ขับเคลื่อนกิจกรรม “มหัศจรรย์ 1,000 วัน Plus สู่ 2,500 วัน” ต้นน้ำการสร้างรากฐานการมีสุขภาพดีตลอดช่วงชีวิต

วันนี้ (6 ก.ย. 67) ที่ห้องประชุมสมิหลา 2 โรงแรม บีพี สมิหลา บีช ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา นางสาวปรินดา ปาลาเร่ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เป็นประธานเปิดและลงนามลายเซ็นดิจิทัลในประกาศนียบัตร กิจกรรมการจัดการดำเนินงานตำบล “มหัศจรรย์ 1,000 วัน Plus สู่ 2,500 วัน” เพื่อแก้ไขปัญหาและดูแล ส่งเสริม และคุ้มครองสตรีและเด็กปฐมวัย ให้เติบโตเต็มศักยภาพและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ผ่านกลไกความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในชุมชนและท้องถิ่น โดยมี นางสาวซอลีฮะห์ ต่วนยูนุ๊ ผู้ช่วยนักโภชนาการ ในนามผู้จัดกิจกรรมการจัดการดำเนินงานฯ เป็นผู้กล่าวรายงาน พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร แขกผู้มีเกียรติ วิทยากร ตลอดจนผู้เข้ารับการอบรมเข้าร่วม

นางสาวปรินดา ปาลาเร่ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา กล่าวว่า กิจกรรม “มหัศจรรย์ 1,000 วัน Plus สู่ 2,500 วัน” ถือเป็นต้นน้ำของการสร้างรากฐานการมีสุขภาพที่ดีตลอดช่วงชีวิต โดยเริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิในครรภ์มารดา ต่อเนื่องไปจนถึงเด็กอายุ 5 ปี เนื่องจากเป็นช่วงที่สมองมีการพัฒนาสูงสุด ทำให้เด็กมีความสามารถในการเรียนรู้ จดจำ และการเจริญเติบโตด้านร่างกายอย่างรวดเร็ว ผ่านกิจกรรมสำคัญ คือ กิน กอด เล่น เล่า นอน และเฝ้าดูฟัน

“องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิตในทุกมิติและทุกช่วงวัย รวมถึงการพัฒนาคุณภาพบริการสาธารณสุขและบริการทางสังคม ซึ่งครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทุกคน โดยไม่ทอดทิ้งกลุ่มด้อยโอกาส”
และคาดหวังว่ากิจกรรมดังกล่าว จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้หน่วยงานภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน มีทิศทางการขับเคลื่อนและดำเนินงานที่ชัดเจน ซึ่งครอบคลุมถึงการสร้างกลไกการขับเคลื่อนงานแบบบูรณาการ การพัฒนาคุณภาพงานบริการสาธารณสุข และงานบริการด้านสังคม การพัฒนาคุณภาพสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย และการมีส่วนร่วมของชุมชนและครอบครัว มุ่งเน้นให้เกิดผลลัพธ์และเป้าหมายเดียวกันที่จะพัฒนาและสร้างทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน พร้อมส่งต่อพลเมืองคุณภาพให้กับประเทศไทยต่อไป

ภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมการมอบเกียรติบัตรให้แก่ผู้ช่วยผู้ดูแลด้านอนามัยแม่และเด็ก (สำหรับผู้ที่ผ่านการอบรมกิจกรรมย่อยที่ 4.2) และเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้แก่คณะกรรมการในแต่ละระดับในท้องถิ่น บุคลากร รพ.สต. สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา และผู้ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรผู้ช่วยผู้ดูแลด้านอนามัยแม่และเด็กในชุมชน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยวิทยากรจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา รพ.สต.บาโหย และ รพ.สต.บ้านทับหลวง