
วันที่ 1 ตุลาคม ของทุกปีเป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยทักษิณ สำหรับปี 2564 จะมีวาระครบรอบ 53 ปี รองศาสตราจารย์ ดร.วิชัย ชำนิ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ ได้ให้สัมภาษณ์ประเด็น “มหาวิทยาลัยทักษิณครบรอบ 53 ปี ก้าวสู่ปีที่ 54” ในรายการพิราบคาบข่าวทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564 โดยสรุปรายละเอียดของการให้สัมภาษณ์ดังนี้

รองศาสตราจารย์ ดร.วิชัย ชำนิ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ ได้ให้ข้อมูลสำหรับประเด็นความเป็นมาของมหาวิทยาลัย จาก วิทยาลัยวิชาการศึกษา (วศ.) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ(มศว) สู่ มหาวิทยาลัยทักษิณ (มทษ.) ในวาระครบรอบ 53 ปี ปัจจุบันมีการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

โดยรวมสรุปได้ว่า การปรับเปลี่ยนที่สำคัญของมหาวิทยาลัยทักษิณ ภาพรวมมี 4 ประการคือ ประการที่ 1 การปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์จากเดิมที่เป็นมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นเชิงวิชาการ ปรับเปลี่ยนเป็นการพัฒนาเชิงวิชาการที่เน้นเป้าหมายเพื่อพัฒนานวัตกรรมสังคม ซึ่งหมายรวมถึงกระบวนการของการปรับเปลี่ยนทางสังคมก็ถือได้ว่าเป็นการพัฒนานวัตกรรมอีกรูปแบบหนึ่ง ประการที่ 2 การปรับเปลี่ยนด้านวิชาการ มหาวิทยาลัยทักษิณมีการมีการเปิดคณะและหน่วยงานใหม่ ๆ 4 คณะ คือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมเกษตรและชีวภาพ และโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยทักษิณ เพื่อเสริมศักยภาพในการตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในภาคใต้ให้มีทางเลือกในการเรียนที่หลากหลายมากขึ้น สำหรับการเปิดการเรียนการสอนคณะอุตสาหกรรมเกษตรและชีวภาพเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่จะมาช่วยในเรื่องของการคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตร และความหลากหลายทางชีวภาพที่ประเทศไทยมีอยู่จะทำอย่างไรให้มีมูลค่าและเพิ่มคุณค่ายิ่งขึ้น ประการที่ 3 ด้านการวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยทักษิณเน้นดานการทำงานร่วมกับชุมชนเป็นสำคัญดังจะเห็นได้ว่างานวิจัยที่เกิดขึ้นล้วนมาจากความต้องการของชุมชนเป็นหลัก ทั้งที่เป็นวิสาหกิจชุมชนและองค์กรต่าง ๆ โดยจะนำโจทย์ที่ได้จากชุมชนมาคิดค้นผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนอง และนำไปแก้ไขปัญหา หรือพัฒนางานของชุมชนเหล่านั้นให้เข้มแข็งและเกิดประโยชน์สูงสุด ประการสุดท้ายคือ การพัฒนามหาวิทยาลัยทักษิณ ให้เป็นมหาวิทยาลัยที่น่าอยู่ มหาวิทยาลัยจะเข้มแข็งได้จะต้องมีอาจารย์เก่ง ๆ และมีนิสิตเก่ง ๆ มาเรียน ซึ่งการที่จะดึงให้อาจารย์เก่งๆ และนักเรียนเก่งๆ เข้ามาอยู่กับเราได้นั้นต้องมีองค์ประกอบที่หลากหลาย องค์ประกอบแรกที่จะต้องมีคือ ต้องเป็นมหาวิทยาลัยที่น่าอยู่ทางด้านกายภาพ สิ่งแวดล้อม ภูมิทัศน์ภายในมหาวิทยาลัยจะต้องสวยงาม สดชื่น และมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ในแง่ของสังคมในมหาวิทยาลัยมีวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็ง มีการสนับสนุนวัฒนธรรมองค์กรด้านการให้ความร่วมมือร่วมใจทำงาน วัฒนธรรมที่เน้นการวิจัย และสิ่งสุดท้ายคือการมีระบบงานที่ดีโดยเฉพาะการนำเอาระบบคุณภาพที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลมาเป็นแนวคิดการพัฒนามหาวิทยาลัย เช่น TQA หรือThailand Quality Award เป็นระบบเดียวกันกับที่มหาวิทยาลัยนำมาปรับใช้ในปัจจุบันเพื่อเป็นกลไกในการพัฒนามหาวิทยาลัย

สำหรับประเด็นด้านค่านิยมของคนรุ่นใหม่ การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี และการเกิดโรคระบาดโควิด-19 ล้วนเป็นสิ่งกระตุ้นให้ต้องปรับตัวนั้น อธิการบดี กล่าวว่า การปรับรูปแบบเพื่อสนองคนรุ่นใหม่และตลาดแรงงานนั้นล้วนเกิดขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เป็นตัวการเร่งให้เกิดการปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ มหาวิทยาลัยมุ่งพัฒนาศักยภาพนิสิต ให้มีส่วนร่วมกับชุมชน ในการแก้ปัญหาท้องถิ่น สร้างงาน สร้างอาชีพแก่ชุมชน และปรับตัวต่อสถานการณ์ดังกล่าวในประเด็นสำคัญ คือ ประการแรก การปรับหลักสูตรให้เน้นหลักสูตรออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะหลักสูตรในระดับบัณฑิตศึกษา เรียนในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก คนในปัจจุบันจะให้ความสำคัญกับการทำงานมากขึ้น เพราะการหาความรู้สะดวกขึ้น จะหาความรู้จากที่ไหน เมื่อใด เป็นเรื่องง่ายมากขึ้นดังนั้นคนจะเริ่มพุ่งเป้าไปที่เรื่องของการทำงานมากกว่าการเรียน มหาวิทยาลัยจึงพยายามปรับปรุงหลักสูตรให้ตอบสนองต่อชีวิตของคนในวัยทำงานได้มีโอกาสเข้ามาเรียนเพิ่มขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าจะมีการปรับหลักสูตรในระดับปริญญาตรีด้วย จะมีการปรับหลักสูตรให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์มากขึ้น โดยยึดแนวคิดการจัดการศึกษาโดยใช้ฐานสมรรถนะเป็นตัวตั้ง กล่าวคือ แต่ละหลักสูตรจะต้องกำหนดสมรรถนะหรือความสามารถที่จะทำอะไรให้สำเร็จและต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า เมื่อผู้เรียน เรียนหลักสูตรนี้แล้ว ผู้เรียนจะมีสมรรถนะด้านใดเพิ่มขึ้นบ้าง และเมื่อมีความชัดเจนด้านสมรรถนะของผู้เรียนจึงค่อยนำมาออกแบบหลักสูตรการเรียน และต้องปรับการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลให้สอดรับโดยประเมินจากผลการเรียนของผู้เรียน หรือพัฒนาการของผู้เรียนที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากเรื่องของการปรับฐานสมรรถนะผู้เรียนแล้ว การจัดหลักสูตรให้เป็นชุดวิชา หรือโมดูล โดยการนำหลายๆ ชุดวิชามารวมกันเพื่อตอบสนองในการพัฒนาสมรรถนะด้านใดด้านหนึ่ง โมดูลในแต่ละส่วนจะประกอบด้วยโมดูลย่อยๆ และผู้เรียนสามารถเลือกเรียนในแต่ละโมดูลได้ตามความสนใจ ซึ่งจะตอบโจทย์ผู้เรียนและตอบสนองต่อความสนใจของผู้เรียนได้อย่างแท้จริง สำหรับการนำนวัตกรรมมาปรับใช้ช่วงสถานการณ์โควิค -19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ สิ่งที่กำลังจะมีการปรับเปลี่ยนคือ ด้านการจัดการศึกษาหรือการพัฒนาไปสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัลดังนั้นโควิด-19 จะยิ่งเป็นตัวเร่งให้มหาวิทยาลัยมีการปรับใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ในอนาคตถ้านิสิตหรือบุคลากรจะติดต่อกับมหาวิทยาลัยไม่จำเป็นต้องเข้ามาด้วยตัวเอง เราจะเน้นช่องทางการติดต่อผ่านระบบดิจิทัลเป็นหลัก สิ่งต่างๆ เหล่านี้คือการปรับตัวที่เกิดขึ้นของมหาวิทยาลัย

การผลิตนิสิตให้ตรงความต้องการที่เปลี่ยนไปทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยีที่พัฒนา และพร้อมรองรับความท้าทายในทุกรูปแบบ ภายใต้นโยบาย “มหาวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม” การสร้างความเป็นเลิศด้านวิชาการและการต่อยอดผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ อธิการบดี กล่าวว่า แต่เดิมมหาวิทยาลัยทักษิณมีบทบาทหลักในการพัฒนาด้านการผลิตบัณฑิต นั้นคือการตอบสนองต่อกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเยาวชนช่วงอายุ 18-22 ปี ภายหลังมีการปรับเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายจากกลุ่มคนในวัยเรียนมาเป็นกลุ่มคนในวัยทำงาน และวัยผู้สูงอายุ หรือวัยเกษียณมากขึ้น หลักสูตรที่ปรับเปลี่ยนจะเน้นหลักสูตรระยะสั้น ซึ่งหลักสูตรระยะสั้นเหล่านี้มีที่มาจากโมดูลวิชาต่างๆ ซึ่งเป็นการดึงมาจากหลักสูตรปกติ มาปรับและจัดอบรมเป็นหลักสูตรระยะสั้นๆ หรือเป็นหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นใหม่เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของคนในวัยทำงานหรือวัยเกษียณมากขึ้น ในลักษณะของ Reskill Upskill การปรับเปลี่ยนทางเทคโนโลยีหรือสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงจึงมีความสำคัญ ความจำเป็นในการทำงาน การดำเนินชีวิตประจำวัน คนเหล่านี้ล้วนต้องการทักษะใหม่ๆ มาปรับใช้ ดังนั้นหลักสูตรระยะสั้นเหล่านี้จะเข้ามาช่วยเสริมให้การทำงานของคนในช่วงวัยต่างๆ ได้มีโอกาสพัฒนาทักษะใหม่ๆ มากขึ้น การปรับรูปแบบการศึกษาตอบโจทย์การเรียนรู้ของคนทุกวัย ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือต่อยอดเพิ่มพูนความรู้ ทักษะในอาชีพตามความถนัดและสนใจของกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ข้อสำคัญคือหลักสูตรระยะสั้นเหล่านี้สามารถเก็บหน่วยกิตสะสมไว้ได้ เมื่อต้องการจะเรียนเพื่อรับปริญญาสามารถเทียบโอนหน่วยงานที่เรียนในหลักสูตรระยะสั้นเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนในหลักสูตรปกติได้ เหล่านี้คือการปรับบทบาทของมหาวิทยาลัยเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนและสังคม

และในประเด็นที่เกี่ยวกับการปลูกฝังนิสิตมหาวิทยาลัยทักษิณให้รู้คุณค่าของศิลปะและวัฒนธรรม อนุรักษ์
และเผยแพร่ให้ยังคงอยู่นั้น อธิการบดี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยทักษิณให้ความสำคัญกับบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยทักษิณอย่างยิ่งโดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่น โดยมีแนวทางการพัฒนานิสิต 2 ประการ คือ ประการแรก การจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตร นิสิตทุกหลักสูตรจะต้องเรียนรายวิชา 1 รายวิชาที่จะต้องออกไปทำงานร่วมกับชุมชน ทุกๆ บ่ายวันพุธนิสิตทุกคนจะมีโอกาสในการลงพื้นที่ไปทำงานร่วมกับชุมชนได้ไปเรียนรู้ในชุมชนจริงๆ การออกไปทำงานร่วมกับชุมชนจะเสริมสร้างและพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม นอกจากนิสิตจะได้เห็นสภาพความเป็นจริงของสังคมแล้ว ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในชุมชนจะถูกหยิบยกมาเป็นโจทย์วิจัยในอนาคต นิสิตจะเห็นปัญหาของชุมชนและเห็นความแตกต่างระหว่างคนมีโอกาสกับคนด้อยโอกาส ซึ่งจะช่วยต่อยอดกระบวนการคิดวิเคราะห์และช่วยพัฒนาวิธีการดำเนินชีวิตได้อย่างดี อีกประการที่มหาวิทยาลัยทักษิณดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง คือการจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรภาคบังคับ ซึ่งมีมหาวิทยาลัยในประเทศไทยไม่กี่แห่งที่มีการจัดกิจกรรมในลักษณะนี้ กล่าวคือ นิสิตมหาวิทยาลัยทักษิณจะต้องเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาคุณลักษณะของตนเองเพื่อให้ได้ชั่วโมงกิจกรรมเสริมตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด การพัฒนาคุณสมบัติของตนเองได้แก่ การเข้าร่วมกิจกรรมเสริมความมีวินัย การเข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสา การเข้าร่วมกิจกรรมบริการสาธารณะ กิจกรรมเสริมคุณธรรมจริยธรรมแต่ละกิจกรรมจะมีแบบฟอร์มสำหรับเก็บชั่วโมงกิจกรรม นิสิตก็จะเก็บชั่วโมงไปเรื่อยๆ ผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยจัดขึ้นหรือหน่วยงานภายนอกจัดขึ้นตลอดระยะเวลา 4 ปี ที่เรียนในมหาวิทยาลัย กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยบ่มเพาะ หล่อหลอมคุณลักษณะที่พึงประสงค์ไปเรื่อยๆ จนครบหลักสูตร กิจกรรมเหล่านี้จะเป็นกิจกรรมหนุนเสริมในลักษณะของกิจกรรมนอกชั้นเรียน ที่จะพัฒนานิสิตให้ถึงพร้อมด้วยคุณธรรมจริยธรรม
และในประเด็นของมหาวิทยาลัยทักษิณ กับการก้าวสู่ปีที่ 54 อธิการบดี กล่าวว่า การปรับเปลี่ยน
ของมหาวิทยาลัยทักษิณที่ผ่านมาจะเห็นผลในระยะสั้นๆ โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนหลักสูตรการอบรมระยะสั้น และการพัฒนาทักษะดิจิทัล มหาวิทยาลัยทักษิณมีคณาจารย์ที่มีคุณวุฒิทางด้านดิจิทัลจำนวนมาก ซึ่งคณาจารย์เหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาและอบรมคนในวัยต่างๆ ให้มีทักษะที่เท่าทันเทคโนโลยีมากขึ้น หรือแม้แต่ด้านดนตรี ด้านศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยมีความพร้อมสูงมาก เหมาะสำหรับคนที่ต้องการเสริมทักษะทางด้านดนตรีเพื่อสุนทรียของตนเอง หลักสูตรระยะสั้นเหล่านี้จะสามารถตอบโจทย์ได้อย่างดี และผู้เรียนสามารถเรียนได้ และนี่คือจุดเริ่มต้นในบทบาทใหม่ของมหาวิทยาลัยทักษิณ ถ้าท่านใดสนใจขอให้แจ้งความประสงค์ที่ท่านต้องการพัฒนาทักษะด้านใดๆ และติดต่อประสานงานเข้ามาที่มหาวิทยาลัยทักษิณ ทางทีมงานพร้อมที่จะจัดหลักสูตรให้ตรงตามความต้องการของท่านต่อไป…