วันเสาร์, 11 มกราคม 2568

หลักสูตรสาธารณสุขฯ มรภ.สงขลา ลงพื้นที่ ต.เกาะแต้ว บริการวิชาการ-ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน ปลุกพลังร่วมพัฒนาและป้องกันภัยทางสุขภาพ

 คณาจารย์และนักศึกษาหลักสูตรสาธารณสุขฯ มรภ.สงขลา ลงพื้นที่ ต.เกาะแต้ว จัดกิจกรรมบริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน ให้ความรู้เรื่องโรคไข้เลือดออก ยาเสพติด การจัดการขยะ ปลุกพลังคนในท้องถิ่นร่วมพัฒนาและป้องกันภัยทางสุขภาพ

หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต (ส.บ.) คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) นำโดย ดร.ภัชชนก รัตนกรปรีดา ประธานหลักสูตรฯ ดร.วรพล หนูนุ่น อาจารย์ประจำหลักสูตรและอาจารย์ผู้รับผิดชอบโครงการ พร้อมด้วยคณาอาจารย์ประจำหลักสูตร ร่วมกับนักศึกษาหลักสูตร ส.บ. จัดกิจกรรมบริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน ครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 7-11 พฤศจิกายน 2565 ในพื้นที่หมู่ที่ 1-10 ตำบลเกาะแต้ว อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา โดยมี นางนุชนาถ จารณะ ปลัดอำเภอกลุ่มงานปกครอง เป็นผู้แทนกล่าวเปิดกิจกรรม

 นางนุชนาถ กล่าวว่า กิจกรรมนี้เป็นการร่วมกันพัฒนาทั้งจากท้องถิ่น ท้องที่ หน่วยงานราชการ และสถาบันการศึกษา ทำให้เห็นถึงพลังอันยิ่งใหญ่ของ มรภ.สงขลา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ในฐานะปลัดอำเภอที่มีหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชนซึ่งเป็นพสกนิกรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อดดีใจแทนพ่อแม่พี่น้องทุกคนไม่ได้ที่ทุกฝ่ายได้ร่วมมือร่วมใจกัน ช่วยกันแก้ไขปัญหาและพัฒนาไปข้างหน้า ขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเทศบาลตำบลเกาะแต้ว โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทั้ง 2 แห่ง โรงเรียนทั้ง 5 แห่ง วัด มัสยิดทุกแห่ง รวมถึงฝ่ายปกครองทั้งหมดในตำบลเกาะแต้ว ที่มาเป็นกำลังสำคัญ ตลอดจนคณะกรรมการหมู่บ้าน คณะ อสม. และพ่อแม่พี่น้องประชาชน ในการช่วยเหลือเกื้อกูลให้กิจกรรมในครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และขอขอบคุณกำนัน ผู้ใหญ่บ้านทุกท่านที่ได้นำปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด และปัญหาการจัดการขยะในชุมชน มาแปลงสู่การปฏิบัติอย่างรวดเร็ว

 ดร.ภัชชนก กล่าวว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นนี้เป็นการบูรณาการกับรายวิชาเอกทุกวิชาที่เปิดสอนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 โดยมีนักศึกษาหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิตทุกชั้นปีจำนวน 350 คน ทำกิจกรรมร่วมกับเครือข่ายองค์กรต่าง ๆ ในชุมชน เพื่อให้บริการวิชาการได้เต็มพื้นที่ทั้ง 10 หมู่บ้านในตำบลเกาะแต้ว  ทางหลักสูตรฯ ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้โอกาสนักศึกษา มรภ.สงขลา ได้เข้าบริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนในครั้งนี้ นำมาซึ่งการปลุกพลังของชุมชนในการร่วมพัฒนาและป้องกันภัยทางสุขภาพให้คงไว้ซึ่งชุมชนแห่งสุขภาวะที่ดี

ด้าน นายสุทธิพงษ์ เอียดเหลือ ประธานนักศึกษาหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต กล่าวว่า ด้วยพระราชปณิธานของพระบิดาแห่งการสาธารณสุขไทย สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ดังก้องอยู่เสมอในสามัญสำนึกของตนและคณะ คือ “ขอให้ถือผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง” ประกอบกับปณิธานของหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.สงขลา คือการได้มีส่วนร่วมเพื่อช่วยเหลือพัฒนาชุมชนท้องถิ่น กิจกรรมบริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนจึงตอบสนองต่อประเด็นข้างต้นที่กล่าวมา อีกทั้งยังมุ่งตอบสนองนโยบายการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในพื้นที่จริง อาทิ ปัญหายาเสพติด ปัญหาการจัดการขยะ หรือด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ รวมถึงปัญหาโรคภัยไข้เจ็บที่คุกคามคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่

ทั้งนี้ หลักสูตร ส.บ. ได้ดำเนินกิจกรรมประกอบด้วย การเจาะเลือดปลายนิ้วตรวจหาสารเคมีตกค้างในเลือด การประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารผ่านหอกระจายข่าวหมู่บ้าน ในประเด็นเรื่อง โรคไข้เลือดออก ยาเสพติด การจัดการขยะ ไข้ดิน และยังได้ออกบริการวิชาการด้วยการลงพื้นที่สำรวจลูกน้ำยุงลายในชุมชน พร้อมทั้งแจกทรายอะเบทแก่บ้านที่ได้ลงสำรวจลูกน้ำยุงลาย และแจกแผ่นพับให้ความรู้ในเรื่องของโรคไข้เลือดออก ยาเสพติด การจัดการขยะ เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่ชาวบ้าน โดยได้ทำแบบประเมินความรอบรู้ด้านสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพของประชาชน เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อและโรคไร้เชื้อที่สำคัญของประชาชนวัยทำงาน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของคนในตำบลเกาะแต้ว และแบบประเมินขยะในครัวเรือน มีการลงสำรวจร้านค้าและติดป้ายยาสามัญประจำบ้านที่สามารถขายในร้านค้าได้