วันศุกร์, 10 มกราคม 2568

สำนักศิลปะฯ มรภ.สงขลา จับมือ วชช.สตูล “ฝึกซ้อมและถ่ายทอดรำโนรา” เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรม ส่งเสริมความรักสามัคคี สร้างจิตสำนึกรักษ์ท้องถิ่น

สำนักศิลปะฯ มรภ.สงขลา ร่วมกับวิทยาลัยชุมชนสตูล จัดอบรมฝึกซ้อมและถ่ายทอดรำโนราให้เด็กและเยาวชนพื้นที่สงขลา พัทลุง สตูล  ในโครงการเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมฯ ส่งเสริมความรักสามัคคี ความมีระเบียบวินัยและจิตสำนึกรักษ์ท้องถิ่น

 สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ร่วมกับวิทยาลัยชุมชนสตูล (วชช.สตูล) จัดโครงการเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมความรัก ความสามัคคี ความมีระเบียบวินัยและจิตสำนึกรักษ์ท้องถิ่น กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ ส่งเสริมความรักความสามัคคีความมีระเบียบวินัย เข้าใจสิทธิหน้าที่ของตนเองและผู้อื่น ผ่านศิลปะการแสดงพื้นบ้านภาคใต้ “โครงการฝึกซ้อมและถ่ายทอดท่ารำโนรา” ระหว่างวันที่ 24-27 พฤษภาคม 2565 ณ อาคารศูนย์วิทยบริการ วิทยาลัยชุมชนสตูล จังหวัดสตูล โดยได้รับเกียรติจาก นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เป็นประธานในพิธีเปิด วิทยากรโดย ครูควน ทวนยก ศิลปินแหล่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน) พุทธศักราช 2553 พร้อมทีมวิทยากรจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา คณะทำงานจากสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.สงขลา นำโดย ดร.บรรจง ทองสร้าง ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม และคณะทำงานจากวิทยาลัยชุมชนสตูล ร่วมดำเนินกิจกรรม

 ดร.บรรจง ผู้เสนอโครงการ กล่าวว่า วัตถุประสงค์หลักของการจัดงานในครั้งนี้ เพื่อให้เครือข่ายคุณธรรมที่เข้าร่วมโครงการนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับ ไปขยายผลหรือเผยแพร่ต่อคนในชุมชนให้มีส่วนร่วมในการสร้างความรักสามัคคี ความมีระเบียบวินัย เข้าใจสิทธิหน้าที่ของตนเองและผู้อื่น ภายใต้พื้นฐานของประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ผ่านการเรียนรู้จากศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาในท้องถิ่นตน โดยมีเครือข่ายด้านคุณธรรมใน 34 อำเภอ จำนวน 165 คน และ ประชาชนจาก 34 อำเภอ จำนวน 400 คน ในพื้นที่จังหวัดสงขลา พัทลุง และ สตูล เข้าร่วมโครงการ

 ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.สงขลา กล่าวอีกว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง ทั่วประเทศ เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มีขอบเขตพื้นที่ให้บริการทางการศึกษาครอบคลุมทั่วทุกจังหวัด ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นต่อการขับเคลื่อนเครือข่ายในการส่งเสริมความรักความสามัคคี ความมีระเบียบวินัย เข้าใจสิทธิหน้าที่ตนเองและผู้อื่นภายใต้พื้นฐานของสังคมของคนในชาติ โดยนำรูปแบบการดำเนินงานในการสร้างภาคีเครือข่ายเพื่อก่อให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชนอย่างยั่งยืนที่สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้โครงการ “ส่งเสริมความรักสามัคคี ความมีระเบียบวินัยเข้าใจสิทธิหน้าที่ของตนเองและผู้อื่น” เพื่อส่งเสริมสร้างจิตสำนึกของคนในชาติให้ความหวงแหนและธำรงรักษาสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ส่งเสริมความรักความสามัคคี ความมีระเบียบวินัย เข้าใจสิทธิหน้าที่ตนเองและผู้อื่นภายใต้พื้นฐานของสังคมประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อันจะนำไปสู่สังคมที่มีความรัก ความเข้าใจ เอื้ออารีต่อกัน สร้างความเป็นปึกแผ่นในชาติโดยรวมอย่างมั่นคงและยั่งยืนในสังคม