วันจันทร์, 13 มกราคม 2568

สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ จชต.รับฟังปัญหาข้อเสนอแนะ เพื่อทบทวนนโยบายการบริหาร และการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้

วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ณ ห้องน้ำพราว 1 โรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี จังหวัดปัตตานี นาย ฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรับฟังความคิดเห็นประกอบการทบทวน นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2565-2567 เพื่อให้การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้สอดคล้องกับสภาวะแวดล้อม และแนวโน้มสถานการณ์ กรอบแนวคิด และวิสัยทัศน์ จึงกำหนดวัตถุประสงค์ของนโยบาย 6 ข้อ ประกอบด้วย 1.เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัย และความสงบสันติโดยปราศจากเงื่อนไขที่เอื้อต่อการใช้ความรุนแรงจากทุกฝ่ายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 2.เพื่อขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้อันเป็นวาระแห่งชาติภายใต้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ให้มีความต่อเนื่อง และเสริมสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง 3. เพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรมและการเยียวยาให้เป็นธรรม ทั่วถึง และขจัดเงื่อนไขความไม่เป็นธรรม รวมทั้งลดความหวาดระแวงทุกรูปแบบและฟื้นคืนความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกันโดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน 4. เพื่อยกระดับการพัฒนาให้เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่โดยมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต และความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง 5. เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน ให้้เกื้อหนุนต่อการพัฒนาและแก้้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 6. เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและประสานความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะหน่วยงานนโยบายที่รับผิดชอบภารกิจด้านความมั่นคงของชาติ จัดทำนโยบายการบริหารและการพัฒนา
จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเป็นกรอบทิศทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ครอบคลุมทั้งด้านการพัฒนาและความมั่นคงที่อยู่บนพื้นฐานของความต้องการและวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้กำหนดให้มีการทบทวนตามวงรอบทุกระยะ 3 ปี หรือกรณีที่มีความจำเป็น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และแนวโน้มสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมช. จึงได้จัดทำนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2565 – 2567 ขึ้น ซึ่งในภาพรวมยังคงยึดกรอบแนวคิดและประเด็นจากนโยบายฉบับก่อนหน้า (พ.ศ.2560 – 2562)โดยปรับเนื้อหาของการประเมินสภาวะแวดล้อมและแนวโน้มสถานการณ์ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และเพิ่มเติมพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนบนพื้นฐานของความหลากหลายไว้ใน กรอบแนวคิดนโยบาย พร้อมทั้ง เพิ่มเติมความเชื่อมโยง สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบาย/แผนหลักที่เกี่ยวข้อง และปรับวิสัยทัศน์ให้กระชับยิ่งขึ้น รวมทั้งเพิ่มเติม และปรับจุดเน้นของแนวนโยบายรองรับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานเชื่อมต่อกับนโยบายที่ผ่านมาได้อย่างไร้รอยต่อ และสามารถรองรับความท้าทาย และความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในอนาคต