
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) จัดกิจกรรมสรุปโครงการ หลักสูตรฝึกอบรมการจัดการนวัตกรรม สำหรับพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ Deep South Innovation Business Coaching Program 2020 ใน วันที่ 8 กันยายน 2563 เวลา13.00 น.-16.00 น.ณ ห้องกลางชล ชั้น 8 โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี

นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัดโต๊ะแถลงข่าวของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)ร่วมกับจังหวัดปัตตานี ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) เทศบาลเมืองปัตตานี ธนาคาร SME BANK และ ประธานหอการค้าจังหวัดปัตตานี ได้พูดคุยถึง ทิศทางความร่วมมือและการสนับสนุนการขับเคลื่อนนวักรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

ซึ่งทางสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ (สนช.) นั้นได้มีการให้ทุนสนับสนุนผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ 2 ลักษณะ คือ
1.ทุนสนับสนุนด้านนวัตกรรมทุน Open Innovation ซึ่งเป็นทุนเริ่มต้นให้กับผู้ประกอบการทั้ง Smart SMEs และ Startup มูลค่าสูงสุดสูงถึง 1,500,000 บาท
2.ทุนนวัตกรรมมุ้งเป้า (Thematic Innovation) เป็นทุนสำหรับผู้ประกอบการที่พัฒนาโครงการที่มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศและยกระดับความสามารถทางนวัตกรรมในระดับอุตสาหกรรมนำไปสู่ การปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ ธุรกิจนวัตกรรมดูแลสุขภาพ,ธุรกิจอาหารและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ และธุรกิจนวัตกรรมการบริการทางการแพทย์

โดยการเข้าร่วมกิจกรรม “หลักสูตรฝึกอบรมการจัดการนวัตกรรมสำหรับพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ (Deep South Innovation Business Coaching Program)” เป็นหนึ่งในแผนโครงการ “บูรณาการการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักและความตื่นตัว ตลอดจนเสริมสร้างศักยภาพด้านนวัตกรรมให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ทั้งในกลุ่มธุรกิจนวัตกรรม(Smart SMEs) และวิสาหกิจเริ่มต้น (Start-up) ผ่านกระบวนการบ่มเพาะและการพัฒนาผู้ประกอบการในกิจกรรมการถ่ายทอดองค์ความรู้จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและมีประสบการณ์ ทั้งเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเรียนรู้ การคิดวิเคราะห์อย่างสร้างสรรค์
ตลอดจนการผลักดันนวัตกรรมในการดำเนินธุรกิจ อันจะนำมาซึ่งการยกระดับธุรกิจนวัตกรรมและวิสาหกิจเริ่มต้นที่จะเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่

การดำเนินงานดังกล่าวเป็นผลจากความร่วมมือระหว่าง สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ( สนช.), ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ นับตั้งแต่เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา โดยการจัดกิจกรรมในปี 2563 ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีองค์ความรู้ความสามารถด้านธุรกิจนวัตกรรม จนกระทั่งสามารถพัฒนาเป็นข้อเสนอโครงการนวัตกรรมและได้รับการสนับสนุนจาก สนช. เป็นจำนวนทั้งสิ้น 21 โครงการ ทั้งนี้ สำหรับการจัดกิจกรรม “หลักสูตรฝึกอบรมการจัดการนวัตกรรมสำหรับพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้” ในปีนี้ สนช. ยังคงดำเนินกิจกรรมการอบรม 2 ส่วน ได้แก่

1) กิจกรรมหลักสูตรการเตรียมความพร้อมเพื่อเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ (3 Days Smart SMEs/Startup) ที่เน้นให้ผู้ประกอบการเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่าง SMEs และ Startup เรียนรู้เครื่องมือวิเคราะห์โครงสร้างทางธุรกิจแบบย่อ พร้อมทั้งแนวทางการพัฒนา นวัตกรรมทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งได้มีการจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 24 – 26 มกราคม 2563 โดยในปีนี้มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมจำนวนมากกว่า 200 คน และ

2) กิจกรรมหลักสูตรสร้างความสามารถทางนวัตกรรมและการเป็นผู้ประกอบการใหม่ ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันเสาร์-อาทิตย์ ระหว่างวันที่ 22 กุมภาพันธ์ – 3 พฤษภาคม 2563 ซึ่งเน้นให้ความรู้แก่ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจากกิจกรรม 3 Days Smart SMEs/Startup ให้สามารถนำไปใช้ได้จริงกับธุรกิจของตนเอง รวมไปถึงการวางแผนพัฒนาข้อเสนอโครงการ และนำเข้าไปสู่ขั้นตอนในการดำเนินการขอทุนสนับสนุนโครงการจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติต่อไป ซึ่งมีผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาทั้งสิ้น 34 ธุรกิจ

ในปีนี้มีผู้ประกอบการที่ได้รับทุนไปแล้วทั้งสิ้น 3 ธุรกิจ คือ โครงการพัฒนากระบวนการดองไข่เค็มด้วยเครื่องดองไข่เค็มความดันสูง, โครงการท่องเที่ยวเสมือนจริง Traveler’s Souvenir และโครงการกรวยยางธรรมชาติอุดรูระเบิดเพื่อการเหมืองแร่ ส่วนธุรกิจอื่น ๆ ก็ยังคงมีการพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่องเพื่อความพร้อมสำหรับขอรับทุนในปี 2563 นี้สำหรับผู้ใดที่สนใจสามารถเข้าไปดูเพิ่มเติมได้ที่ https://open.nia.or.th หรือ หรือ www.facebook.com/DeepSouthIBCProgram หรือโทร 02-017-5555 (คุณอภิวัฒน์ ถาวรแก้ว)





